เที่ยวทั่วไทย อร่อยทั่วโลก อัพเดทข่าวรายวัน Lifestyle บันเทิง ทันทุกกระแสข่าว!

09 สิงหาคม 2561

จิตรกรรม ไทยจะมีทิศทางเป็นอย่างไร?

ในยุคที่อะไรๆ ก็เป็นดิจิทัล
นิทรรศการจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค ครั้งที่ 20 
อวดผลงานเชื่อมโยง ศิลปะ นวัตกรรม และความสุขของสังคมไทย



ศิลปินรุ่นใหม่โชว์พลังสร้างสรรค์ พร้อมอัตลักษณ์อันโดดเด่น ถ่ายทอดผลงานเชื่อมโยงระหว่าง ศิลปะ นวัตกรรม และความสุขของสังคมไทยไว้อย่างลงตัว ในนิทรรศการจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค “เพื่อความสุขของมวลมนุษยชาติ” ครั้งที่ 20 ภายใต้แนวคิด “สร้างสรรค์เพื่อความสมบูรณ์ของชีวิต” ซึ่งจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ - 29 สิงหาคม 2561 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองศิลปินสองเจนเนอเรชั่น ในกิจกรรมเสวนา   “ถกทิศทางจิตรกรรมไทย ในยุคที่อะไรๆ ก็เป็นดิจิทัล” หวังจุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจ และต่อยอดงานจิตรกรรมไทยสู่ระดับสากล 



คุณเมธ์วดี นวพันธ์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานการ  ประกวดจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค
ครั้งที่ 20 กล่าวว่า นับเป็นเวลา 20 ปีที่บริษัทฯ ได้จัดกิจกรรมนี้มาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้หัวข้อ “สร้างสรรค์เพื่อความสมบูรณ์ของชีวิต” อีกทั้งในปีนี้ครบรอบ 100 ปี ในการดำเนินธุรกิจของพานาโซนิคทั่วโลก บริษัทฯ ยังคงตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมศิลปวัฒธรรมของชาติ มุ่งหวังที่จะสืบสานผ่านผลงานจิตรกรรมอันทรงคุณค่า ส่งเสริมให้ศิลปินมีเวทีสร้างสรรค์ผลงานออกสู่สาธารณะชน สร้างประโยชน์และคุณค่าต่อวงการศิลปะระดับประเทศ โดยการจัดการประกวดครั้งนี้ได้รับความร่วมมืออันดีจากองค์กร มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ ตลอดจนศิลปินที่ทำให้การจัดการประกวดประสบความสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

สำหรับนิทรรศการจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค ครั้งที่ 20 ได้พิจารณาและคัดเลือกผลงานโดยคณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิ จากผลงานที่มีคุณค่าและทักษะการสร้างสรรค์ผลงานที่โดดเด่นของศิลปิน ถ่ายทอดตัวตนผ่านผลงานศิลปะอันบริสุทธิ์ ประยุกต์กับเทคโนโลยีและสารสนเทศ ก่อเกิดเป็นนวัตกรรมที่ผ่านทางงานศิลปะ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนารูปแบบการสร้างความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และอัตลักษณ์ที่โดดเด่นจากผลงานด้านความคิดสร้างสรรค์ของประเทศต่อไป



ด้าน ศาสตราจารย์กิตติคุณกำจร  สุนพงษ์ศรี ประธานคณะกรรมการตัดสินผลงาน กล่าวว่า

 “ในครั้งนี้มีศิลปินที่ให้ความสนใจเข้าร่วมส่งผลงานทั่วประเทศ จำนวน 216 ชิ้น จากศิลปิน 132 คน ถือได้ว่าเป็นโครงการที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และมากขึ้นกว่าทุกปีก็ว่าได้  คณะกรรมการผู้ทรงวุฒิได้คัดเลือกรังสรรค์ผลงานตามวัตถุประสงค์ของบริษัทฯ มาจัดแสดงในครั้งนี้ 60 ชิ้น แบ่งออกเป็น ภาพของผู้ได้รับรางวัล 16 รางวัล และผลงานร่วมแสดง 44 รางวัล 




สำหรับศิลปิน  ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 เมื่อได้พิจารณาผลงานชิ้นนี้ จะมุ่งเน้นแสดงออกถึงความเป็นจริงทางสังคม ซึ่งนับเป็นหลักปรัชญาศิลปะสำคัญหลักหนึ่งในการสร้างงานศิลปะในปัจจุบัน การนำเสนอผลงานผ่านภาพลิงสามตัวกับนางอายหนึ่งตัว สวมใส่อาภรณ์ของคน มาเป็นจุดสนใจของภาพ จัดให้มีการแต่งกายแบบคน แสดงอากัปกิริยาคล้ายคนในท่าทางต่างกัน ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างศิลปินนำมาแสดงได้อย่างพอเหมาะพอดี ไม่มากไปไม่น้อยไป รวมถึงที่ว่าง แสง และสี ช่วยเสริมให้งานนำเสนออย่างพอเหมาะ ที่สำคัญคือภาพได้สร้างความประทับใจในการสร้างพลังแห่งการเยาะเย้ย ถากถางอย่างลุ่มลึก โดยนำร่างของสัตว์มาแทนร่างคน ขณะเดียวกัน การประกวดในครั้งนี้ยังมีผลงานดีๆ จำนวนไม่น้อยที่สร้างสรรค์มามีคุณภาพมากเหนือความคาดหมาย และสามารถนำผู้ชมมามีอารมณ์ร่วมได้”



สำหรับผลงานรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 ได้แก่ “ลิงที่รอดชีวิต”  โดย น.ส.ศิริพร  เพ็ชรเนตร อายุ 23 ปี จากกรุงเทพฯ ใช้เทคนิคสีอะคริลิกถ่ายทอดแนวความคิดที่มีมานานคือการรณรงค์การอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์แต่ผ่านการสื่อสารด้วยมุมมองใหม่ที่ทันสมัย มีอารมณ์ขันมากขึ้น 



รางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 2  จำนวน 2 ผลงาน ได้แก่ “ไทยงม”  โดย นายอนันต์ยศ จันทร์นวล อายุ 24 ปีจาก จ. นครศรีธรรมราช ใช้เทคนิคสีน้ำมันและอะคริลิก สื่อให้เห็นความคิดของคนไทยที่ยังยึดติดกับความเชื่อและการกระทำบางอย่างมากเกินไป 



ผลงาน “ตัวฉันกับความสุขที่หายไป”  โดย นายชมรวี  สุขโสม อายุ 30 จาก จ.ชุมพร  ใช้เทคนิคสีฝุ่นและอะคริลิก สื่อถึงการแบกความรับผิดชอบมากมายไว้บนหลัง โดยมีตัวละครตัวใหญ่ที่เปรียบเสมือนตัวเองและตัวละครเล็กๆ ที่เปรียบเสมือนความรับผิดชอบในด้านต่างๆ 



รางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 3 จำนวน 3 ผลงาน ได้แก่  “จริงหรือหลอก” โดย นายผดุงพงษ์  สารุโณ อายุ 27 ปี จาก จ.สตูล ซึ่งใช้สีน้ำมันถ่ายทอดอารมณ์ต่างๆ เกี่ยวกับเพศที่สาม สู่ภาพ Portrait เป็นเสมือนการสร้างโลกอีกใบ ผลงาน "เหยื่อของความรุนแรง" โดย นายวฤทธิ ไพศาลธิรศักดิ์ อายุ 35 ปี จาก จ.สมุทรปราการ ใช้สีน้ำมันแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศในสตรีที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสังคม ที่อาจจะกลายเป็นความคุ้นชินในสังคมซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายมาก ซึ่งเหยื่อไม่มีโอกาสออกมาปกป้องสิทธิ์ของตัวเองได้ จนบางครั้งถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ต่างๆ  และผลงาน "ซ้ายสังหาร" โดยนายอานนท์  เลิศพูลผล อายุ 25 ปี จาก จ.สุราษฎร์ธานี ที่สร้างสรรค์ภาพวาดเส้นร่วมกับสีน้ำมัน  ถ่ายทอดแนวคิดว่าตั้งแต่อดีตมนุษย์มีความเข้าใจในความเหมาะสมและความถูกต้อง ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามการเจริญเติบโตและประสบการณ์ใหม่ๆ การปรับตัวจะช่วยให้เข้าใจในเหตุผลของความถูกผิด ภาพนี้นำเสนอบริบทหรือสถานการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดการตีความถึงความถูกผิดทั้งในแง่ของกฎหมายและกฎศีลธรรม



ผลงานทั้ง 60 ชิ้นของโครงการประกวดจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค “เพื่อความสุขของมวลมนุษยชาติ” ครั้งที่ 20 ภายใต้หัวข้อ  “สร้างสรรค์เพื่อความสมบูรณ์แห่งชีวิต” จัดแสดงให้ชมถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2561 เวลา 09.00  - 16.0 0 น. ทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า โดยในวันเปิดนิทรรศการ ได้จัดให้มีกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองจากศิลปินสองเจนเนอเรชั่น 



ในหัวข้อ “จิตรกรรม ไทยจะมีทิศทางเป็นอย่างไร ?? ในยุคที่อะไรๆ ก็เป็นดิจิทัล” โดยมี ศาสตราจารย์กิตติคุณกำจร สุนพงษ์ศรี, อาจารย์ธีระชัย สุขสวัสดิ์ อาจารย์สาขาศิลปกรรม ภาควิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม, น.ส.ศิริพร เพ็ชรเนตร รางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 จิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค ครั้งที่ 20 และนายสุรเดช วัฒนาประดิษฐชัย  รางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 จิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค ครั้งที่ 18  ให้เกียรติร่วมเสวนา เพื่อร่วมสร้างแนวทางการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมไทยให้ได้รับการยอมรับในระดับสากลต่อไป 





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น