เที่ยวทั่วไทย อร่อยทั่วโลก อัพเดทข่าวรายวัน Lifestyle บันเทิง ทันทุกกระแสข่าว!

29 มิถุนายน 2564

โอเอซิสสปาภูเก็ต พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด SHA Plus+*


โอเอซิสสปา โดยนางสาว ณัฐพร ศรีนวล ผู้ดำเนินสปาเพื่อสุขภาพระดับภูมิภาค ได้รับได้มอบเครื่องหมายมาตรฐาน SHA Plus+ จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้แก่สาขาของโอเอซิสสปาในจังหวัดภูเก็ต คือ โอเอซิสสปา ทรอปิคอล รีทรีท ลากูน่า และ  โอเอซิส เทอร์ควอยซ์ โคฟว์ สปา กมลา โดยมาตรฐาน SHA Plus+ เป็นมาตรฐานที่รับรองว่าโอเอซิสสปาทั้งสองสาขาในภูเก็ต เป็นสถานประกอบการสปาเพื่อสุขภาพมีมาตรการและมาตรฐานด้านสุขอนามัยในการควบคุมเชื้อไวรัส COVID-19 และพนักงานทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) 



ทั้งนี้มาตรฐาน SHA และ SHA Plus+ ได้รับการรับรองจาก World Travel & Tourism Council (WTTC)
หรือ สภาการท่องเที่ยวโลก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจว่าจะไดรับการบริการสปาที่มีมาตรฐานอย่างปลอดภัย สอดคล้องนโยบาย Phuket Sandbox ของจังหวัดภูเก็ต ที่เตรียมจะเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ครบโดสแล้วและแสดงผลตรวจไม่พบเชื้อ COVID-19 ให้สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตได้โดยไม่ต้องมีการกักตัว


โดยจะเริ่มต้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 นี้เป็นต้นไป 
www.oasisspa.net

กทปส. ให้การต้อนรับนายชาญวุฒิ อำนวยสิน ผู้อำนวยการสำนักกองทุนวิจัยและพัฒนา

ในฐานะเข้ารับตำแหน่งใหม่พร้อมดำเนินงานในปี 2564 เป็นต้นไป

​บุคคลในภาพ (เรียงลำดับจากซ้ายไปขวา)

1. นางสาวฐนกร กนิษฐานนท์      ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการ

2. นางพันทิภา สุทธินนท์   ​   ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์และติดตามประเมินผล 1

3. นางสาวชนัณภัสร์ วานิกานุกูล   ผู้อำนวยการส่วนนโยบายและแผน

4. นายชาญวุฒิ อำนวยสิน ​   ผู้อำนวยการสำนักกองทุนวิจัยและพัฒนา

5. นายอรรณพ ตรึกตรอง ​   ผู้อำนวยการส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ และภาพลักษณ์กองทุน

6. นายธนัชญ์พงศ์ อยู่เกิด  ​   ผู้อำนวยการส่วนการเงิน การบัญชี และงบประมาณ

กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. โดยคณะผู้บริหารและบุคลากร กทปส. ให้การต้อนรับ พร้อมร่วมแสดงความยินดีกับ นายชาญวุฒิ อำนวยสิน (คนที่ 3 จากขวา) ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกองทุนวิจัยและพัฒนา ในโอกาสนี้ยังได้มอบนโยบาย แผนการดำเนินงาน แนวทางการปรับปรุงองค์กรให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพ ประสิทธิภาพของงานในองค์กรในอนาคต ณ สำนักงานกองทุนฯ อาคาร ไอทาวเวอร์ ถนนวิภาวดี เมื่อเร็วๆ นี้

 


24 มิถุนายน 2564

บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ร่วมมอบน้ำดื่ม จำนวน 5,000 ขวด


วันที่ 24 มิถุนายน 2564 นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด พร้อมด้วย นางพัชร์ณัฐ โหตระไวศยะ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการรักษาความสะอาด บริษัท รักษาความปลอดภัย เอเชีย คลีนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด ร่วมมอบน้ำดื่ม จำนวน 5,000 ขวด ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เพื่อเป็นการสนับสนุนภารกิจวาระการฉีดวัคซีนแห่งชาติ โดยมี นางจตุพร เนียมสุข ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นผู้รับมอบ   ณ สถานีกลางบางชื่อ กรุงเทพมหานคร



 ณ สถานีกลางบางชื่อ กรุงเทพมหานคร

23 มิถุนายน 2564

แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เข้ารับวัคซีนเข็มที่ 2 ครบ 100%

รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ส่งเจ้าหน้าที่และบุคลากรทุกส่วนงานเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 เข็มที่ 2 ครบ 100%  สร้างความมั่นใจ และความปลอดภัยในการใช้บริการให้แก่ผู้โดยสาร

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เปิดเผยว่าหลังจากบริษัทได้ส่งเจ้าหน้าที่ และบุคลากรทุกส่วนงานเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นใจ และความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสาร ตามนโยบายกระทรวงคมนาคม ณ สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเจ้าหน้าที่ และบุคลากรของบริษัทได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้วในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานั้น ล่าสุดเจ้าหน้าที่ และบุคลากรของบริษัทได้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 เข็มที่ 2 ครบ 100% แล้วในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งนี้เชื่อว่าการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความมั่นใจ และสร้างความปลอดภัยในการใช้บริการให้แก่ผู้โดยสารได้  

ส่วนงานบริการลูกค้าสัมพันธ์ Call Center 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ www.srtet.co.th , www.facebook.com/AirportRailLink และ Twitter : Airport Rail Link

22 มิถุนายน 2564

ชมวิวสวยทุ่งหญ้าท้ายเขื่อน ป่าสักชลสิทธิ์

วันนี้..เราอยู่ที่ทุ่งหญ้าท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นเขื่อนดินกักเก็บน้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทย สืบเนื่องจากปัญหาการเกิดน้ำท่วม
ในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักในฤดูน้ำหลาก และขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูร้อน อันเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานศึกษาความเหมาะสมถึง การสร้างเขื่อนเพื่อแก้ปัญหา ดังกล่าว เมื่อวันที่19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และบริเวณกรุงเทพ มหานครและปริมณฑลอีกด้วย จนกระทั่งวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2537คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้เปิดโครงการ ก่อสร้างเขื่อนกัก เก็บน้ำแม่น้ำป่าสัก ภายหลังการศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ทางฝั่งจังหวัดลพบุรียังมีสถานีรถไฟเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อยู่บริเวณทางเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์สถานีรถไฟเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีอาคารอเนกประสงค์ริมอ่างเก็บน้ำ มีสถานที่ปล่อยปลา และ จุดนั่งชมวิวริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ วันนี้จะพาไปชมความสวยงามสุดอันซีนที่ท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

เพียงสองชั่วโมงครึ่งจากกรุงเทพ เรารีบสตาร์ทรถออกจากบ้านมาแต่เช้า มุ่งหน้าไปยังลพบุรี ครั้งนี้พวกเราอยู่กันที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี ที่นี่เป็นเขื่อนดินกักเก็บน้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทย เน้นสถานที่ท่องเที่ยวแบบธรรมชาติสวยงามที่ทำให้ต้องว้าว มาถึงบริเวณอาคารอเนกประสงค์ริมอ่างเก็บน้ำ ตั้งแรกเข้ามีเครื่องวัดอุณหภูมิให้นักท่องเที่ยวได้วัดไข้ตามสถานการณ์โควิดที่เริ่มผ่อนคลายเปิดให้คนเดินทาง 






ผู้คนไม่มากนัก แม้จะเป็นวันเสาร์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ใช้เวลา ดำเนิน การก่อสร้างกว่า 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2542 และ ทำพิธีปฐมฤกษ์ กักเก็บน้ำ เขื่อนในวันที่ 15 มิถุนายน;พ.ศ. 2541 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเสด็จมาเป็น องค์ประธาน และในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามเขื่อนแห่งนี้ว่า “เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์” อันหมายถึง “เขื่อนแม่น้ำป่าสักที่เก็บกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงทำพิธีเปิด เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในวันที่ 25 พฤศจิกายนพ.ศ. 2542

“ให้อาหารปลามั๊ยคะ? ” เสียงแม่ค้าริมอ่างเก็บน้ำตะโกนเรียกผู้มาเยือน  นอกจากที่นี่มีที่ให้อาหารปลา

ยังมีจุดนั่งชมวิวริมอ่างเก็บน้ำ นั่นทำให้เราเห็นหลายคน นั่งบ้าง เก็บภาพกันบ้างประปราย 

มาถึงเก็บภาพบริเวณด้านหน้าเสร็จ ก็เริ่มมองรอบๆ จำได้ว่า มีรถรางพานักท่องเที่ยวชมวิวบริเวณสันเขื่อนฯ สอบถามพี่ๆ ป้าๆ ขายของที่ระลึก ได้ความมาว่า ช่วงโควิดหยุดพักกันก่อน น่าจะเริ่มอีกทีปลายปี
... รถรางนำเที่ยวสันเขื่อนฯ เป็นรถรางที่บริเวณนำเที่ยวชมวิว ระยะทางไป - กลับความยาว 9,720 เมตรส่วนของใครที่จะนั่งรถไฟไปเที่ยว บอกตรงๆ ว่าช่วงนี้เอาแน่นอนไม่ได้จริงๆ คงต้องเช็คตารางการเดินรถไฟกันที่สถานีหัวลำโพง ซึ่งไฮไลท์ก็อยู่ที่สถานรถไฟเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สถานที่ที่หลายคนต้องลงเก็บภาพกัน นอกจากนี้ทางฝั่งสระบุรี พระพุทธรัตนมณีมหาบพิตรชลสิทธิ์มงคลชัย (หลวงปู่ใหญ่ป่าสัก) อยู่บริเวณท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ชมวิวริมสันเขื่อนอันสวยงาม





เคยมั้ย!!  อยากไปนั่งมองวิวกว้างๆ ที่ทุ่งหญ้าท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มองแล้วเหมือนทะเลน้ำจืด เราสอบถามพี่ๆ ที่จำหน่ายสินค้า ด้วยความที่ไม่แน่ใจ ไม่ได้มาเสียนาน  “ ถ้าจะไปบริเวณท้ายเขื่อน ที่มีสถานีรถไฟ ที่มีรถรางวิ่งและมีการนำแกะแพะมาเลี้ยงบริเวณทุ่งหญ้าท้ายเขื่อนต้องไปทางไหนคะ” เราถามดูจะเป็นคำถามที่พาเอาคนฟังงง ตะแกตอบกลับมาว่า “ ที่พี่ถามอ่ะ อยู่กันคนละที่เลยนะคะ จะไปที่ไหนแน่ ถ้าจะไปดูทุ่งหญ้าท้ายเขื่อน โน่น ขับออกไปเลย ถ้าจะไปสถานีรถไฟก็อีกทาง จะไปบ้านพักก็อีกทางจะไปไหนคะ”

.... 555 เรามองตามมือที่ชี้ไปคนละทาง เรียกว่าเป็นวงกลมกันเลยทีเดียว 

.... ไม่เพียงแต่แกงง เราเองก็งง งั้นไม่เป็นไร ไปท้ายเขื่อนกันก่อนละกัน 

ฝูงแพะ คะ แพะ ... ตามหาแพะ ท้ายเขื่อน ที่กลายเป็นลานหญ้าที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตาจรดกับสายน้ำเอาเป็นว่า ใครที่ยังไม่เคยไปท้ายเขื่อน เพื่อชื่นชมทุ่งหญ้ากว้าง ต้องขับรถออกจากบริเวณอาคารเอนกประสงค์แห่งนี้ แล้วไปถึงตลาดนัดเจอสามแยกเลี้ยวซ้าย แล้วก็ซ้ายอีกที ถ้าไงตั้งจีพีเอสปักหมุดว่า ทุ่งหญ้าท้ายเขื่อน บ้านท่าฤทธิ์ จะใกล้เคียงความต้องการมากสุดแล้วหล่ะ 

... และแล้ว ความพยายามอยู่ที่ไหน ก็พยายามกันต่อไป 

... แวะสอบถามร้านค้าอีกครั้งหนึ่งเพื่อความแน่ใจก็เกิดขึ้น



....บ่ายแก่เต็มที ล้อยังคงหมุนพาเราละเรื่อยไปตามถนนเล็กๆ คราวนี้ไม่พลาด เจอแล้ว ทะเบียนกรุงเทพฯ เลี้ยวเข้าออกอยู่หลายคัน ในยามเย็นแสงแดดอ่อนๆ จะมีฝูงวัวออกมาหากินเล็มหญ้ากันในบริเวณนี้ บรรยากาศชิลสุดๆ

คนเลี้ยงแกะ กำลังต้อนแกะแพะจำนวนนับร้อยกลับสู่ที่พัก ได้แต่จอดกระโดดลงเก็บภาพแทบไม่ทัน 

... ในช่วงที่น้ำลงพื้นดินจะแข็งสามารถลงไป และเมื่อมาถึงลานโล่งกว้างแห่งนี้ เราเห็นรถยนต์หลายคัน ต่างกระจายกันจอดตามลาน และตามอัธยาศัย ดูท่าหลายคนจะเคยมา เพราะการเตรียมพร้อม บ้างก็กางเต็นท์ บ้างก็ปูผ้าพลาสติกพร้อมตั้งเก้าอี้ชื่นชมวิวตรงหน้า ขณะที่ไกลออกไป เป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกบินพารามอเตอร์ ที่บินฉวัดเฉวียนอยู่เหนือหัวให้ได้เห็นจำนวนหลายเครื่องอยู่ 





.... ว้าว ชมวิวเขียววสุดใจ ใกล้​กรุงเทพ

บอกได้คำเดียวว่า ว้าว สำหรับคนที่ใช้หัวใจนำทางจริงๆ ที่นี่ พี่โต้ง อดีตช่างภาพ นสพ.ไทยรัฐ ปัจจุบันกลับมาบ้านเกิดที่อำเภอท่าวุ้ง เล่าให้เราฟังว่า “เดิมน้ำเยอะมาก แต่เนื่องจากน้ำแล้ง เพราะการผันน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ตอนล่าง ทำให้บริเวณแห่งนี้ไม่มีน้ำ เกิดเป็นลานโล่งสุดลูกหูลูกตา เรายังพบซากหอย ซากกิ่งไม้ และซากปลา ให้ได้เห็นบนพื้นผิวดินริมน้ำ 

สถานที่เที่ยวอย่าง ทุ่งดอกตะวัน ที่เอกชนปลูกขึ้น และเคยเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ต่างไม่มีแรงทำต่อเนื่องเพราะขาดน้ำในการหล่อเลี้ยง” 

นักท่องเที่ยวหลายคนที่นำรถเข้ามา จะจอดอยู่บริเวณลานทุ่งหญ้าที่พื้นดินแข็งตัว เพื่อความปลอดภัย 

ทั้งเรา ทั้งน้องร่วมทาง ต่างงัดกล้อง SLR บันทึกภาพ เปลี่ยนเลนส์หลายรอบ ทั้งเลนส์ซุม ทั้งเลนส์วายด์ รวมถึงมือถือที่ปัจจุบันเก็บแสงได้อย่างชะงัดนัก 

.... แสงอาทิตย์ค่อยๆ เหลืองเรืองรองเปิดหน้าฟ้า หลายคนจมจ่อมกับภาพตรงหน้า 

เราค่อยๆ ทิ้งตัวลงนั่งบนผืนทุ่ง ธรรมชาติค่อยๆเผยความงามให้ได้เห็น ทิวเขาสะท้อนน้ำ สวยงามจนสาธยายไม่ถูก



... อากาศเริ่มเย็นลง บรรยากาศแบบนี้ การได้พบสังคมของผู้คนที่ชื่นชอบในสิ่งเดียวกัน ใบหน้าที่อิ่มเอมไปด้วยความสุขของแต่ละคน คนรุ่นใหม่พาลูกน้อยมาเดินลัดเลาะริมผืนน้ำ ชี้ชวนชื่นชมความงาม หนุ่มสาวถ่ายรูปเซลฟี่ ไม่นานอาทิตย์ก็ใกล้ลับเหลี่ยมขอบน้ำ ดูจะเป็นช่วงเวลาที่ชายหาปลาจะเริ่มทำงาน 

ที่นี่ไม่มีที่พัก ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก หากต้องการพักมีเพียงเต็นท์ที่ต้องนำมาเอง สำหรับเรา เลือกที่พักในเมืองมากกว่าเนื่องเพราะไม่ได้จัดเตรียมอุปกรณ์ใดๆ มา และดูจะไม่สะดวกสำหรับบรรดาสาวๆ ในช่วงค่ำคืนนัก แต่บริเวณใกล้เคียงมีที่พักเป็นบ้านพักสวัสดิการ มีที่พักโฮมสเตย์และที่พักใจกลางเมืองอยู่ สามารถเสริชจากเน็ตได้ตามอัธยาศัย

... สำหรับเราค่ำนี้มาจบลงที่ บ้านรวยสุขรีสอร์ท ชื่ออาจจะดูไม่เท่าไหร่ เป็นที่พักแบบเป็นหลังมีทั้งหมด 10 หลัง ใช้ชื่อผลไม้ต่างๆเป็นชื่อห้องพัก ไม่ว่าจะเป็นมะนาว มะพร้าว สามารถนำรถเข้าเสียบจอดหน้าบ้านพักเป็นสัดส่วน ที่สำคัญ สะอาด ปลอดภัย และมีระเบียงหน้าบ้านพักให้ได้นั่งตั้งวงสนทนาในยามค่ำคืน 


.....รุ่งอรุณวันใหม่กลางเมืองลพบุรี เช้านี้หลังจากแวะทานก๋วยเตี๋ยวร้านดังแล้ว เราจะพาไปไหว้พระกัน ที่วัดห้วยแก้ว ก็เหมือนกับวัดอื่นๆ ที่ประสบกับความเดือดร้อนจากพิษโควิด 19 ที่นี่เดิมมีผู้คนเข้ามาสักการะ 

วัดห้วยแก้วตั้งอยู่ในอำเภอบ้านหมี่ เป็นวัดที่มีอายุ 140 ปีต่อมาในช่วงปี 2551 พระครูรัตนาธิคุณเจ้าอาวาสวัดห้วยแก้วองค์ปัจจุบันได้มีแนวคิดที่จะสร้างเจดีย์ขนาดสูง 32.8 เมตร โดยสร้างเป็นศิลปะแบบขอมขึ้นกลางน้ำเพื่อเป็นศาสนวัตถุถวายเป็นพุทธบูชา

ข้อความจากเอกสารแผ่นพับที่ผลิตโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี  ที่คุณลุงเจ้าหน้าที่ในวัดนำมาให้เราได้รู้ถึงที่มาของวัดแห่งนี้ 


.... ที่เจดีย์กลางน้ำเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า โดยได้รับความเมตตาจากพระเทพปริยัติมงคล( หลวงปู่โอภาส โอภาโส)ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดลำปาง เจ้าอาวาสวัดจองคำพระอารามหลวง อ.งาว จ.ลำปาง ได้ให้นามพระเจดีย์ว่า “ พระเจดีย์มหาเมตตารัตนะรังษี”

ด้านนอกพระเจดีย์เป็นศิลปะขอม ด้านในเป็นศิลปะพม่า มีพระเจดีย์พระหยกขาวและพระพุทธรูปหยกขาว 8 องค์ ตั้งประดิษฐานภายในตรงจุดกึ่งกลางพระเจดีย์ พร้อมทั้งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระกรุ (พระร่วง) จำนวน 84,000 องค์ ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 7 ปีจากแรงศรัทธาของชุมชนที่มีต่อวัด จึงเรียกด่าเป็นวัดที่เกิดจากแรงศรัทธาของชุมชนมหาสอนและชุมชนใกล้เคียง 

ลุงเล่าต่อว่า “ที่ชุมชนคุณธรรม วัดห้วยแก้ว ตำบลมหาสอน มีที่เที่ยวใกล้ๆ เป็นแบบวิถีชุมชน มีกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งอีแต๋นเที่ยวชุมชน ชมการจักสานหวายบ้านมหาสอน ศูนย์การเรียนรู้ บ้านสวนขวัญ ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชิม โชว์ การทำแคปหมู ชมการแสดงชุมชน สัมผัสอาหารถิ่น ล่องแพและเรือ สัมผัสลุ่มน้ำบางขาม บ้านไทยหลบโจร 

ส่วนสินค้าชุมชน จะมีปลาส้มแม่นอง แคปหมู ไข่เค็มใบเตยดินสอพอง ตะกร้าหวายลายวิจิตร น้ำพริก ข้าวปลอดสารพิษ ก๋วยเตี๋ยวโกเดี่ยว ปลาเค็มแดดเดียว”

ชุมชนมหาสอน เป็นชุมชนที่อยู่ติดลุ่มน้ำบางขามที่มีอายุมากกว่าพันปี ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย มีอาชีพทำนาเป็นหลักและมีภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมายาวนานให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสวิถีริมน้ำ 

... บริเวณประตูทางเข้าวัดจากแผงเล็กๆ แม่ค้าสูงวัยร้องเรียกลูกค้าอย่างแผ่วเบา  “ปลาแดดเดียวมั๊ยคะ ไข่เป็ดเลี้ยงเอง ผัก มะนาวก็เก็บจากที่บ้านเองคะ” 

    “ฟักทองมั๊ยคะ” แม่ขายอีกคนส่งเสียงขณะมือยังสาละวนอยู่กับการร้อยมาลัยพวงน้อย 

....เพราะโควิดทำให้การค้าการขายตกลง ยอดนักท่องเที่ยวแทบไม่มี สินค้าขายไม่ออก เราไม่เคยเห็นพวงมาลัยพวงละ 5 บาท 

นั่นทำให้เราควักตังค์อุดหนุนกันอย่างเต็มกำลัง ... วันนี้เราฉีดวัคซีนครบ 2 โดสตามที่รัฐบอกการเดินทางจึงเริ่มขึ้นอีกครั้งในรอบปีแม้เรามีกำลังจับจ่ายไม่มากมาย... แต่ทุกบาทเรียกรอยยิ้มและความหวังให้กับผู้คนในชุมชนได้เต็มเปี่ยม

.....เสียงขอบคุณยังดังไล่ตามหลังไม่ขาดสาย จากเสียงหนึ่ง.... กับสองมือที่พนมไหว้ขอบคุณลูกค้ารุ่นลูกอย่างเรา สะท้อนหัวใจเหลือเกิน 

 “แวะมาอีกนะคะ” 

แม้ล้อจะหมุนออกมาจาก วัดห้วยแก้วไกลจนลับตาแล้ว แต่เสียงเชื้อชวนยังดังก้องในใจ ...สัญญาคะว่าจะกลับมาอีก และจะมาเหมาไข่เป็ดยาย อีกแน่นอน 

มาเที่ยวลพบุรี มองหาคาเฟ่น่านั่ง คาเฟ่ที่ตกแต่งได้ฟีลเก๋ๆ บอกเลยว่ามีให้เลือกเพียบ ทั้งแบบสไตล์วินเทจ หรือแบบโมเดิร์นถูกใจสายชิค หรือสายธรรมชาติ ชมวิวมองภูเขา ก็มีเช่นกัน เรียกได้ว่า มีร้านกาแฟที่ตอบโจทย์  ร้านให้บริการอาหารหลากหลายเมนู ทั้งอาหาร กาแฟสด สเต็ก เครื่องดื่ม ผลไม้สดปั่นตามฤดูกาลให้เลือกทาน

  ... หากใครสนใจ จากเอกสารบอกเอาไว้ว่า มีที่พักโฮมสเตย์ ทั้ง บ้านสวนขวัญ ฟาร์มสเตย์ริมน้ำ บ้าน้อยรังนกโฮมสเตย์ บ้านริมทุ่งโฮมสเตย์ บ้าป๋าอ๊อดโฮมสเตย์ หญิงใจงามโฮมสเตย์ บ้านแพริมน้ำ 

นอกจากนี้ยังมีเส้นทางจักรยานให้ได้ขี่เที่ยวกัน แต่ยังไงก็คงต้องโทรเช็คกันก่อนนะคะ  เพราะไม่แน่ใจเหมือนกันกับสถานการณ์แบบนี้ ลองเช็คกันดูริมถนนใหญ่ไม่ไกลกันนักกับวัดห้วยแก้ว ยังมีร้านกาแฟเล็กๆ ที่ชื่อ view time café & bistro ร้านเพิ่งเปิดใหม่ได้ไม่ถึงปี ตั้งอยู่ริมคันนา มีที่นั่งทั้งแบบห้องแอร์และแบบโอเพ่นแอร์ ทุ่งนาถูกขุดให้ได้สร้างซุ้มสำหรับนั่งเล่นกันแบบชิลๆ ริมน้ำ แม้จะเคยเห็นมาหลายแห่ง แต่ก็ยังคงน่าแวะสั่งคาปูฯ สักแก้วเช่นกัน 

... การเดินทางเวลาเพียงสองวันหนึ่งคืนครั้งนี้ .... น้อยนิดเหลือเกินกับหลายสิ่งที่ปะทะหัวใจมาอย่างเต็มแรง มีเพียงการผ่องถ่ายสิ่งที่สัมผัสผ่านมาทางตัวอักษรกับภาพบันทึกเพียงบางเสี้ยว.... หากคุณเริ่มคิดจะจับพวงมาลัยไปที่ใดสักที่ ... ที่นี่ ลพบุรีจะเป็นอีกจังหวัดที่น่าปักหมุดให้ได้จดจำอีกแห่งหนึ่งทีเดียว 

บ๊ายบาย ลพบุรี แล้วพบกันใหม่ กับที่ใหม่แต่จะไปที่ใด ไม่รู้ได้จริงๆ  หากหมดโควิดเมื่อไหร่ใครที่อยากจะหาสถานที่ท่องเที่ยวง่ายๆ หล่งท่องเที่ยวสุดอันซีนใกล้กรุงเทพฯ  มาแนะนำอีกนะคะ

ก่อนกลับบ้าน.....ขอแวะทานร้านโปรดในดวงใจ ร้านกุ้งเพื่อนแพรว กุ้งสดๆเนื้อแน่นๆ  ร้านนี้อยู่ด้านหน้าตลาดกลางเพื่อการเกษตร (อตก.) เมนูของที่ร้านเน้นกุ้งเป็นหลัก กุ้งเผาสดๆ นอกจากนี้ยังมีเมนูซีฟู้ด อื่นๆ เช่น ปลา หอย ทานคู่กับน้ำจิ้มซีฟู๊ดแซ่บๆ นักท่องเที่ยวต่างรู้ดีว่าที่นี่เป็นแหล่งซื้อขายกุ้งสดชื่อดังของอยุธยา ใครอยากกินสดๆ เนื้อ​หวานๆ ไม่ผิดหวังมาร้านกุ้งเพื่อนแพรวมีให้ชิมหมดทุกอย่างกุ้งเผาพร้อมน้ำจิ้มเด็ด ราคามีให้เลือกหลายราคา 


ร้าน กุ้งเพื่อนแพรว
ที่อยู่: ทางคู่ขนานทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ตำบลหันตรา อำเภอ พระนครศรีอยุธยา
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000 โทรศัพท์: 035 345 490

บ้านพักสวัสดิการ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์111 หมู่ 6 ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี 15140 โทร 0 3649 4243   ราคา 1,000 – 2,500 บาท * จำนวน 10 ห้อง

สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดลพบุรี  โทร. 036- 414258, 036- 414257 

ชุมชนคุณธรรมวัดห้วยแก้ว โทร. 080 020616 

วิสาหกิจท่องเที่ยววิถีชุมชนเชิงเกษตรบ้านมหาสอน 094 9744297 , 084 775143
www.m-culture.go.th>lopburi สายด่วนวัฒนธรรม 1765 



บทความโดย : นาริฐา  จ้อยเอม
www.btripnews.net

สายเขียว&สายสุขภาพต้องมา เปิดตัวฮิพกัญ และ เห็ดอร่อย@ไอคอนสยาม

เปิดตัวเป็นที่เรียบร้อยสำหรับ 2 แฟรนไชส์สายเขียวและสายสุขภาพต้องไม่พลาด !!กับแฟรนไชส์“ฮิพกัญ”ธุรกิจเครื่องดื่มที่นำใบกัญชามาเป็นส่วนผสม ในรูปแบบคีออสสามล้อสุดชิค มีเมนูเครื่องดื่มจากกัญชาท้าให้ลองมากมาย อาทิ ชากัญชาร้อน ชากัญชาเย็น ชากัญชาโซดาสด ชากัญชาน้ำผึ้งมะนาวโซดา อเมริกาโน่กัญชา ดริปกัญชา และ คราฟกัญชา พิเศษช่วงฉลองเปิดร้านจัดโปรโมชั่น ซื้อ 1 แก้วแถมฟรี 1 แก้ว 


นอกจากนี้ยังเปิดแฟรนไชส์“เห็ดอร่อย”ทานคู่กัน กับเห็ดนางฟ้าภูฐานผ่านกระบวนการทอดกรอบรีดน้ำมัน ของดีชุมชนปากช่อง จ.นครราชสีมา  ถูกคัดสรรเสิร์ฟขึ้นเครื่องการบินไทย ด้วยเหตุการบินหยุดชะงัก จึงเปิดหน้าร้านลงภาคพื้นดินชวนชิมความกรอบอร่อยที่สายเฮลธ์ตี้ต้องติดใจ กับ 4 รสชาติให้เลือก ทั้งวาซาบิ สไปซี่ ทรัฟเฟิล และชีส โรยหน้าด้วยคอลลาเจน ช่วยผิวสวยใส เสริมความแข็งแรงของข้อต่อกระดูกสายเขียวและสายสุขภาพสามารถไปฟินและชิมกันได้ที่ ...


ไอคอนสยาม ชั้น G โซนสุขสยาม ประตู5 เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น. สนใจแฟรนไชส์ติดต่อ 08-5321-4515

21 มิถุนายน 2564

โรงแรมเฮอริเทจ เชียงรายกับแพคเกจ staycation 7คืน

โควิดยาวแบบนี้ เปลี่ยนบรรยากาศมาทำงาน work from hotel หรือพักผ่อนที่โรงแรมเฮอริเทจ เชียงราย กับ แพคเกจ staycation 7 คืน โดยพักที่ห้อง Deluxe Room 5,999 บาทถ้วน  (ไม่รวมอาหารเช้า), ห้อง Deluxe Room 7,999 บาทถ้วน พร้อมเสิร์ฟอาหารเช้า สำหรับ 2 ท่าน,ห้อง Executive Suite 1 bedroom 12,999 บาทถ้วน พร้อมเสิร์ฟอาหารเช้า สำหรับ 2 ท่าน และรับสิทธิพิเศษมากมาย ดังนี้

 ฟรี ! น้ำดื่มวันละ 2 ขวด

 ฟรี ! บริการอินเตอร์เนทความเร็วสูงในห้องพักและในโรงแรม

 ฟรี ! บริการรถไปส่งห้างสรรพสินค้า Central Chiang Rai

 ฟรี ! ใช้สาธารณูปโภคของโรงแรมได้ครบถ้วน ทั้งฟิตเนส สระว่ายน้ำ

 บริการแม่บ้านทำความสะอาดห้อง 2 วัน/ อาทิตย์

 ส่วนลด 25% สำหรับอาหารที่ห้องอาหาร All day dining

 ส่วนลด 25%  ค่าซักผ้าและซักแห้งรวมอบรีด





สอบถามเพิ่มเติมหรือสำรองห้องพักภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564
เพื่อรับสิทธิพิเศษดังกล่าวได้ที่
☎️ โทร. +66 5205 5888 / +66 69 474 867
Inbox Facebook: m.me/TheHeritageChiangRai

จองเลย: https://line.me/ti/p/z-ZyIOrsQF
อีเมลล์: reservation@heritagechiangrai.com

18 มิถุนายน 2564

ททท. เดินหน้าฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เปิดตัวโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการท่องเที่ยวยุคดิจิทัล (Empowering Tech Tourism)

กรุงเทพฯ 18 มิ.ย. 2564 – การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เดินหน้าฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย เปิดตัว “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการท่องเที่ยวยุคดิจิทัล (Empowering Tech Tourism)” โครงการที่จะช่วยฟื้นฟู ส่งเสริมและสร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง โดยความร่วมมือจาก ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผู้พัฒนานวัตกรรม และนักลงทุน ที่เป็น 3 ภาคส่วนสำคัญที่จะร่วมสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจให้เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป


นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) 

ภายในงานแถลงข่าวพิธีเปิด “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการท่องเที่ยวยุคดิจิทัล (Empowering Tech Tourism)” ได้รับเกียรติจาก นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธีกล่าวเปิดงาน และการจัดเสวนาในหัวข้อ “แนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการท่องเที่ยวในยุคดิจิทัล” โดยมี นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรมสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TEDFund) และ ดร.เปาว์ ศรีประเสริฐสุข SVP ผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรม ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนาผ่านการถ่ายทอดสดจากโรงแรม Lancaster Bangkok ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า “ในปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของเทคโนโลยี หรือ Technology Disruption ซึ่งส่งผลต่อทุกอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผนวกกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เช่นในปัจจุบัน จึงเป็นสิ่งเร่งรัดให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ และเราจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทยมีภูมิต้านทานต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นเราจึงต้องสร้างเครื่องมือหรือระบบนิเวศที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวให้เข้าสู่ชีวิตปกติใหม่ วิถีการท่องเที่ยวใหม่ ๆ เพื่อให้ธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อลด ต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการท่องเที่ยวยุคดิจิทัล (Empowering Tech Tourism) นี้จึงถือเป็นอีกโครงการที่ช่วยฟื้นฟูผู้ประกอบการการท่องเที่ยวให้พัฒนาศักยภาพของธุรกิจโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้ทันที ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความแข็งแรงให้แก่ผู้พัฒนานวัตกรรมที่เข้าร่วมโครงการและเชิญชวนนักลงทุนเข้าร่วมโครงการเพื่อจับคู่ทางธุรกิจกับนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวเพื่อสร้างระบบนิเวศของการท่องเที่ยวในยุคปกติใหม่ นับเป็นโอกาสสำคัญที่ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะช่วยระดมกำลังกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้พร้อมสู่ยุคดิจิทัล เพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนพร้อมรับมือกับการกลับมาของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ”

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถึง 3 ระลอก ผู้ประกอบการบางรายต้องหยุดกิจการชั่วคราว บางรายต้องเลิกกิจการไป และอีกจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจที่ต้องหยุดชะงัก ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมฯ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ ททท. ต้องเร่งฟื้นฟูและเตรียมความพร้อมรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยว ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวด้วยการพัฒนาสินค้าและบริการ เพิ่มคุณค่าและมูลค่าด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ รองรับการเปลี่ยนแปลงภายใต้วิถีใหม่ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้ฟื้นคืนกลับมาเข้มแข็งกว่าเดิมบนพื้นฐานของปลอดภัยและความยั่งยืน

โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการท่องเที่ยวยุคดิจิทัล Empowering Tech Tourism จึงเป็นความ ร่วมมือระหว่างภาครัฐ ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ผู้พัฒนาด้านนวัตกรรม และนักลงทุนที่จะช่วยกันเสริมศักยภาพของการท่องเที่ยวไทยให้ก้าวไกลในยุคดิจิทัล โดยการพัฒนา Digital Platform ภายใต้ชื่อ www.empoweringtechtourism.com ที่รวบรวมผู้พัฒนานวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านนวัตกรรมของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว นำเสนอให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวนำนวัตกรรมไปใช้งานเพื่อเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจของตนเองให้เข้ากับยุคดิจิทัล พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้ใช้เป็นช่องทางในการเลือกลงทุนในนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยว อันจะเป็นการสร้างการเติบโตให้แก่ผู้พัฒนานวัตกรรมต่อไป

โครงการนี้เราได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสมาคมท่องเที่ยวต่าง ๆ , ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai), กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TEDFund), กลุ่มธนาคาร อาทิ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank), ธนาคารกรุงเทพ รวมถึงนักลงทุนจากสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนส่วนบุคคล ทาง ททท. ต้องขอขอบคุณทุก ๆ หน่วยงานที่ให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยให้ก้าวไปสู่ยุคดิจิทัลในครั้งนี้”

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 

พร้อมกันนี้โครงการฯ ยังมีการจัดงานนวัตกรรมไทยพบผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวใน 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้ประกอบการในพื้นที่ ภายในงานประกอบไปด้วยการสัมมนาจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ คลีนิกให้คำปรึกษาเพื่อผู้ประกอบการ และการจับคู่ทางธุรกิจ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารของโครงการได้ที่ www.empoweringtechtourism.com และ www.facebook.com/empoweringtechtourism

17 มิถุนายน 2564

GIT World’s Jewelry Design Award ครั้งที่ 15

วันที่ 15 มิถุนายน 2564 : สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ (องค์การมหาชน) เฟ้นหา 4 ผลงานชิ้นเยี่ยมจากชิ้นงาน 402 ชิ้นที่นักออกแบบจากทั่วโลกส่งเข้าประกวดชิงรางวัล GIT World’s Jewelry Design Awards ครั้งที่ 15 เพื่อผลิตเป็นเครื่องประดับต้นแบบ อวดโฉมและประกาศผู้ชนะรางวัลในเดือนกันยายน นี้

การประกวดในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "Intergeneration Jewelry" - jewelry for every generation ซึ่งเปิดกว้างให้นักออกแบบได้สร้างสรรค์ผลงานเต็มที่ ไม่จำกัดวัสดุที่ใช้ ซึ่งนอกจากความสวยงามของดีไซน์แล้ว เครื่องประดับที่ผ่านการคัดเลือก ยังต้องมีความพิเศษมากขึ้นและก้าวข้ามข้อจำกัดของเจนเนอเรชั่นอีกด้วย ซึ่งปีนี้ มีนักออกแบบจากทั่วโลกส่งผลงานเข้าประกวดรวม 402 ชิ้นงาน จาก 27 ประเทศ โดยมีนักออกแบบต่างชาติส่งชิ้นงานจำนวน 238 ชิ้นงาน จาก อิหร่าน มาเลเซีย อียิปต์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีน รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น และจากประเทศไทย 164 ผลงาน


นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบัน กล่าวว่า การประกวดครั้งนี้ เราหวังจะได้เห็นผลงานออกแบบใหม่ๆ ที่ฉีกกรอบเดิม และสร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังเปิดให้นักออกแบบนำวัสดุใหม่ๆ ที่น่าสนใจ รวมทั้งนวัตกรรมอื่นๆ มาออกแบบตามความเหมาะสม และจะต้องสามารถนำมาพัฒนาเป็นจิวเวลรี่ที่จำหน่ายได้จริง และจากผลงานที่ส่งเข้าประกวด เราจะเห็นได้ถึงเทรนด์ในการออกแบบซึ่งมาจากทั่วทุกมุมโลกที่น่าสนใจ  ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้เป็นแนวทางสำหรับนักออกแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย สำหรับรอบการตัดสินแบบวาดในวันนี้ สถาบันได้รับเกียรติจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากทั่วโลก 

อาทิ นางสิริพร ภาณุพงศ์ รองประธานกรรมการ สำนักกฎหมาย Royal Law ม.ล. คฑาทอง ทองใหญ่ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ นางสาวสิริน ศรีอรทัยกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัทบิวตี้เจมส์ แฟคตอรี่ จำกัด นายชาญชัย เลิศกุลทานนท์ Vice President, Global Business Relations บริษัท PANDORA PRODUCTION, ดร.ธัชวิน  สุรเศรษฐ กรรมการผู้จัดการ L.S. Jewelry Group (Lee Seng Jewelry), Professor Paolo Torriti: Professor at the University of Siena, Italy และ Mr. Saeed Mortazavi Founder & CEO of Mortazavi Design Academy, Iran, Professor Kwon Ju Han: Dean, College of Convergence Arts, College of Art and Design, Daegu University, Republic of Korea เป็นผู้ตัดสินผ่านช่องทางออนไลน์ 

โดยเบื้องต้นสถาบันจะตัดสินรอบคัดเลือกแบบวาด และคัดเลือกจนเหลือ 30 แบบ และเลือกเฟ้นหาแบบวาดที่มีคะแนนสูงสุด 4 แบบวาด เพื่อนำไปผลิตเป็นเครื่องประดับขึ้นโชว์ผลงานพร้อมเหล่านางแบบในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งผลงานผลงานที่ผ่านเข้าสู่รอบตัดสินชิงชนะเลิศ มีดังนี้

1. นาย สุรศักดิ์ มณีเสถียรรัตนาจากประเทศไทย ชื่อผลงาน ความเชื่อในตรีโกณมิติ (Trigonolism) 

2. นางสาว พรนภา เด่นจารุกุล และนางสาว ภัสภา โพธิ์อุบล จากประเทศไทย ชื่อผลงาน D-N-A

3. นาย จิรวัฒน์ สมเสนาะ จากประเทศไทย ชื่อผลงาน รูปทรง เรขาคณิต (Geometry) 

4. Mrs. SoheilaHemmatiจากประเทศอิหร่าน ชื่อผลงาน Pearls for all generations




สำหรับการตัดสินรอบชิงชนะเลิศ และการประกาศรางวัล มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 2 กันยายน 2564  ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน จากนั้นสถาบันจะนำผลงานการออกครั้งนี้ไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้าต่างๆ รวมถึงการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ GIT Gem and Jewelry Museum เพื่อเป็นการตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลกของประเทศไทย” (Thailand’s Gems and Jewelry Hub of The World)

ผู้ที่สนใจ สามารถเข้าไปชมผลงานผู้ที่ผ่านรอบแรก ได้ที่ www.facebook.com/gitwjda
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายฝึกอบรม สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทร. 02 634 4999 ต่อ 311-313