เที่ยวทั่วไทย อร่อยทั่วโลก อัพเดทข่าวรายวัน Lifestyle บันเทิง ทันทุกกระแสข่าว!

15 มกราคม 2565

"พม.เสริมทัพผู้จัดการรายกรณี (Case Manager) มุ่งช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางอย่างตรงจุด"

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ดำเนินการจัดโครงการเสริมสร้างความรู้และทักษะผู้จัดการรายกรณี (Case Manager : CM) จำนวน 5 รุ่น ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (โปรแกรม Zoom cloud Meeting) ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2564 ถึงเดือนมกราคม 2565 โดยได้เครือข่ายจากสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ สมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก และคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนับสนุนวิทยากร เพื่อเสริมสร้างความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และสร้างความเข้าใจต่อบทบาทและแนวปฏิบัติในการกำกับผู้จัดการรายกรณี ให้แก่เจ้าหน้าที่กระทรวง พม. ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัด และทีม One Home พม. ทุกจังหวัดที่ปฏิบัติหน้าที่งานด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม กว่า 400 คน ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ 

นายอนุกูล ปีดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวว่า กระทรวง พม. มีนโยบายขับเคลื่อนโครงการบูรณาการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทุนมนุษย์ สู่การเป็นกลไกสำคัญในการบรรลุเป้าหมายของกระทรวง เพื่อแก้ไขปัญหาความเปราะบางของครัวเรือน จึงนำแนวคิดการจัดการรายกรณี (Case Management) มาเสริมพลังให้บุคลากร ติดอาวุธทางความรู้ ทักษะ ในการประสานความร่วมมือ การจัดการทรัพยากร และการประเมินความต้องการที่สอดคล้องกับปัญหาของกลุ่มเปราะบางได้อย่างตรงจุด รวมถึงสามารถนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานภายใต้โครงการสร้างเสริมสวัสดิการสังคม ในพื้นที่ตำบลสร้างเสริมสวัสดิการ เพื่อช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางมีสุขภาพดี มีรายได้ มีงานทำ มีการศึกษา อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และได้รับสวัสดิการจากภาครัฐได้อย่างทั่วถึง



นายอนุกูล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ โครงการดังกล่าว ยังตอบโจทย์แผนยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม และตอบโจทย์นโยบายกระทรวง พม.ในการขับเคลื่อนโครงการบูรณาการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง อีกด้วย

นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวง พม. พร้อมบูรณาการร่วมกับเครือข่าย ทีมสหวิชาชีพ ภาคประชาชน ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันวางแผนให้ความช่วยเหลือ ผ่านกระบวนการจัดสวัสดิการสังคม การสังคมสงเคราะห์โดยผู้จัดการรายกรณี (Case Manager) จะทำหน้าที่ในการดูแลกลุ่มเปราะบาง 1:10 ครอบครัว ตลอดจนประสานทรัพยากรในพื้นที่ ทั้งองค์กรภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน สถานประกอบการที่เป็นเครือข่ายของศูนย์ประสานและส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของจังหวัด ดำเนินการให้การช่วยเหลือ แก้ไข พัฒนา กลุ่มเปราะบาง ในการจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาตามความต้องการของกลุ่มเปราะบาง โดยยึดกลุ่มเปราะบาง เป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมทุกมิติ ได้แก่ ด้านคุณภาพชีวิต ด้านสุขภาพ ด้านการพัฒนาทักษะความรู้ ด้านการสร้างอาชีพ และการส่งเสริมให้มีงานทำมีรายได้ที่มั่นคง ตลอดจนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น