นำร่อง จ.สุพรรณบุรี ผ่านกลไกโรงเรียนผู้สูงอายุ
วันนี้ (18 เม.ย. 67) เวลา 09.30 น. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อการพัฒนาด้านดนตรีบำบัดสำหรับประชาชน
คนทุกช่วงวัย ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล กับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมี นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ นางพรนิภา มาสิลีรังสี รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ รองศาสตราจารย์ ดร.ภก.สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายแผนพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล นายณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ร่วมลงนามเป็นพยาน ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ดนตรีอุษาคเนย์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
นายอนุกูล กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตความรุนแรงและปัญหาสุขภาพจิตหลากหลายรูปแบบและมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้สำรวจข้อมูลสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตของคน 4 กลุ่ม ได้แก่ เด็กและเยาวชน คนวัยทำงาน ผู้สูงอายุ และกลุ่มคนเปราะบาง ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนา “ระบบสุขภาวะทางจิต” ที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนและทุกระดับของสังคม ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาทักษะสุขภาพจิตส่วนบุคคลพฤติกรรมวิถีชีวิต การเยียวยารักษา ไปจนถึงการออกแบบและพัฒนานโยบายที่เป็นไปตามหลักสากลที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะทางจิตที่ดี ตามแนวทางการสร้างเสริมป้องกันคัดกรองรักษาและฟื้นฟู ซึ่งมีลักษณะเป็นเชิงรุกดนตรีบำบัด (Music Therapy) นับเป็นเครื่องมือที่สำคัญและเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในทางการแพทย์ โดยใช้องค์ประกอบทางดนตรีเป็นตัวช่วยในการบำบัด สามารถช่วยฟื้นฟูได้ทั้งด้านกายภาพและจิตใจ รวมถึงช่วยพัฒนาทักษะในการสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น
นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า วันนี้เป็นการลงนามความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาด้านดนตรีบำบัดสำหรับประชาชน คนทุกช่วงวัย ซึ่งเป็นความตั้งใจของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ให้ความสำคัญเรื่องการใช้ดนตรีบำบัดสภาพจิตใจในกลุ่มเปราะบาง ซึ่งดนตรีนั้นจะช่วยเยียวยาและทำให้กลุ่มเปราะบางสามารถมีคุณภาพชีวิตหรือมีความพร้อมที่จะกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ และเตรียมนำโครงการนี้ขยายไปยังกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อที่จะให้เห็นผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง จากการใช้ดนตรีบำบัดให้เขากลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติและดียิ่งขึ้น โดยเริ่มต้นในระดับพื้นที่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 10 อำเภอ โดยใช้กลไกโรงเรียนผู้สูงอายุ และจะมีแผนปฏิบัติการร่วมกันระหว่างกระทรวง พม. และ ม.มหิดล ทั้งนี้ ม.มหิดล จะเข้าไปยังสถานดูแลผู้สูงอายุจังหวัดสุพรรณบุรีทั้ง 10 อำเภอ และหลังจากนั้นจะมีการเปิดตัวโครงการ Train the Trainner หลักสูตรฝึกอบรมการใช้ดนตรีเพื่อการพัฒนาด้านดนตรีบำบัดสำหรับประชาชนคนทุกช่วงวัย ให้กับบุคลากร เจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ จำนวน 12 แห่ง และ Care giver เพื่อให้มีความรู้และความเข้าใจในพื้นฐานทางดนตรีบำบัด และการใช้ดนตรีในเชิงคลินิคฟื้นฟูผู้ป่วยทางระบบประสาทและสมองในเป้าหมาย 3 ด้าน ได้แก่ sensorimotor, speech and language และ cognitive จากนั้นจะขยายผลการอบรมไปยังหน่วยงานอื่นๆ ของกระทรวง พม. อีกทั้งเตรียมจัดกิจกรรม ดนตรีบำบัดฯ สำหรับการพัฒนาสุขภาวะของผู้สูงวัยในโรงเรียนผู้สูงอายุ และชมรมผู้สูงอายุ ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี และปทุมธานี นอกจากนี้ กระทรวง พม. มีแผนขยายออกไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่ง ม.มหิดล จะมีส่วนร่วมผลักดันและสนับสนุนในการที่จะเข้าไปดูสุขภาพวะของทุกคน
#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธศิลปอาชา #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #ดนตรีบำบัด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น