เที่ยวทั่วไทย อร่อยทั่วโลก อัพเดทข่าวรายวัน Lifestyle บันเทิง ทันทุกกระแสข่าว!

28 มิถุนายน 2561

ไทยเลื่อนขั้นขึ้นอันดับ 34 ในดัชนีความโปร่งใสตลาดอสังหาริมทรัพย์โลก



รายงานดัชนีความโปร่งใสตลาดอสังหาริมทรัพย์โลกประจำปี 2561 (
Global Real Estate Transparency Index (GRETI) 2018) ซึ่งจัดทำขึ้นทุกๆ สองปีโดยบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล ระบุว่า ประเทศไทยได้รับการจัดให้เป็นตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีความโปร่งใสอยู่ในอันดับที่ 34 ของโลกในปีนี้ โดยปรับขึ้นจากอันดับที่ 38 ในรายงานฉบับปี 2559 นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียนอีกหกประเทศที่รายงานฉบับเดียวกันนี้ครอบคลุม พบว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยมีดัชนีความโปร่งใสอยู่ในอันดับที่สาม แซงหน้าอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และเมียนมา ซึ่งมีอันดับอยู่ที่ 42, 48, 61 และ 73 ของโลกตามลำดับ โดยเป็นรองเฉพาะสิงคโปร์และมาเลเซียซึ่งมีดัชนีความโปร่งใสอยู่ในอันดับที่ 12 และ 30 ของโลก

นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการเจแอลแอล กล่าวว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยมีดัชนีความโปร่งใสปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากการมีข้อมูลเกี่ยวกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้เข้าถึงได้มากขึ้นและง่ายขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายจำนวนเพิ่มขึ้นของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (property fund) ที่ตั้งขึ้นตั้งแต่ในอดีตและกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ในปัจจุบัน ซึ่งถูกกำหนดด้วยกฎหมายให้ต้องเปิดเผยข้อมูลผลประกอบการ ตลอดรวมจนถึงข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุน ซื้อ ขาย อสังหาริมทรัพย์ใดๆ

นอกจากนี้ การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์อย่างจริงจังมากขึ้น การเตรียมนำระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่มาใช้ ตลอดรวมจนถึงแผนการยกระดับระบบดิจิทัลเพื่อจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินได้แบบครบวงจรออนไลน์ จะมีส่วนสำคัญที่ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยมีความโปร่งใสเพิ่มมากยิ่งขึ้นต่อไป” นางสุพินท์กล่าว

ความโปร่งใสที่เพิ่มขึ้น ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการที่สูงขึ้นของตลาดอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น แต่ยังช่วยให้นักลงทุน เจ้าของ หรือผู้พัฒนาโครงการ รวมจนถึงผู้เช่าใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ สามารถประเมินโอกาสและความเสี่ยงได้แม่นยำมากขึ้น ซึ่งทำให้สามารถตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้นเมื่อต้องพิจารณาการลงทุน ซื้อ ขาย เช่า หรือให้เช่า” นางสุพินท์กล่าว

รายงานดัชนีความโปร่งใสตลาดอสังหาริมทรัพย์โลกประจำปี 2561 เป็นรายงานฉบับที่ 10 ที่เจแอลแอลจัดทำขึ้น โดยมีการวิเคราะห์เปรียบเทียบตัวแปรด้านต่างๆ ที่มีผลต่อโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อระดับความโปร่งใสของตลาดอสังหาริมทรัพย์ อาทิ ปริมาณข้อมูลที่มีการเปิดเผยเกี่ยวกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ บรรษัทภิบาล กระบวนการต่างๆ เกี่ยวกับการประกอบธุรกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ สิทธิการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ กฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมไปจนถึงความยั่งยืนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

รายงานฉบับดังกล่าว ครอบคลุมตลาดอสังหาริมทรัพย์ใน 158 เมืองของ 100 ประเทศทั่วโลก และแบ่งกลุ่มประเทศออกเป็นห้ากลุ่มตามระดับความโปร่งใสของตลาดอสังหาริมทรัพย์ คือ 1.โปร่งใสมาก  2.โปร่งใส  3.โปร่งใสปานกลาง 4.โปร่งใสต่ำ และ 5.ไร้ความโปร่งใส โดยประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีความโปร่งใสในระดับปานกลาง ส่วนตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่โปร่งใสที่สุดคือสหรัฐราชอาณาจักร และตลาดที่ไร้ความโปร่งใสที่สุดคือเวเนซูเอล่า

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของหลายประเทศในเอเชียแปซิฟิกมีพัฒนาการที่ดี

ดร. มีแกน วอลเตอร์ส ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เจแอลแอล กล่าวว่า เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่ดัชนีความโปร่งใสของตลาดอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวขึ้นเร็วที่สุด เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ อีก 4 ภูมิภาคที่รายงานของเจแอลแอลครอบคลุม โดยมีแรงหนุนสำคัญจากเมียนมา มาเก๊า ไทย อินเดีย และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีพัฒนาการดีขึ้นมากที่สุดในแง่ของดัชนีความโปร่งใสของตลาดอสังหาริมทรัพย์

เมียนมาเป็นตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีค่าดัชนีความโปร่งใสปรับตัวดีขึ้นรวดเร็วที่สุดในโลก โดยขยับขึ้นจากอันดับที่ 95 ในรายงานประจำปี 2559 มาอยู่ในอันดับที่ 73 ในรายงานฉบับประจำปีนี้ นอกจากนี้ เมียนมายังพ้นออกจากกลุ่มตลาดที่ไร้ความโปร่งใส ขึ้นไปอยู่ในกลุ่มตลาดที่มีความโปร่งใสต่ำ โดยรายงานของเจแอลแอลอธิบายว่า เมียนมายังคงพยายามเปิดเศรษฐกิจ ในขณะที่การเข้ามาลงทุนของต่างชาติทำให้การเปิดเผยข้อมูลตลาดมากขึ้น

เกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีค่าดัชนีปรับตัวดีขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด และได้จากออกจากกลุ่มตลาดอสังหาริมทรัพย์โปร่งใสปานกลางขึ้นไปอยู่ในกลุ่มตลาดที่มีความโปร่งใส จากอานิสงค์ของปริมาณการลงทุนที่เพิ่มขึ้นทำให้มีข้อมูลธุรกรรมการลงทุนเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังมีการริเริ่มโครงการค้าคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเสริมให้ค่าดัชนีตัวแปรความโปร่งใสในส่วนที่เกี่ยวกับความยั่งยืนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมปรับตัวดีขึ้น

ส่วนพัฒนาการที่ดีขึ้นของอินเดีย เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลมีความคืบหน้าไปมากเกี่ยวกับแผนการปรับปรุงความโปร่งใสในประเทศและลดปัญหาคอรัปชั่น กฎหมายกำกับดูแลภาคอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลอนุมติในปี 2559 และบังคับใช้ในปี 2560  นับเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่สำคัญที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ และส่งผลทำให้อินเดียขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับต้นๆ ของกลุ่มตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีความโปร่งใสปานกลางร่วมกับจีน ไทย และอินโดนีเซีย

คาดพร็อพเทคจะมีส่วนผลักดันให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์เอเชียแปซิฟิกมีความโปร่งใสมากขึ้น

รายงานดัชนีความโปร่งใสตลาดอสังหาริมทรัพย์โลกจากเจแอลแอล เปิดเผยว่า กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในเอเชียแปซิฟิก อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น มีโอกาสสูงที่จะทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของตนมีความโปร่งใสมากขึ้นด้วยการนำเทคโนโลยีด้านอสังหาริมทรัพย์ หรือพร็อพเทคเข้ามาให้ ประเทศเหล่านี้ซึ่งตลาดอสังหาริมทรัพย์ชั้นแนวหน้าที่เป็นที่นิยมของนักลงทุน มีศักยภาพสูงที่จะขยับจากกลุ่มตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีความโปร่งใสในระดับสอง ไปอยู่ในกลุ่มตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีความโปร่งใสสูงเช่นเดียวกับ สหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ภาคธุรกิจพร็อพเทคกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเอเชีย แม้การใช้จะยังไม่แพร่หลายมากนักเมื่อเทียบกับอเมริกาเหนือและยุโรป” นายเจรามี เคลลีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเจแอลแอลทั่วโลกกล่าว และคาดว่ารัฐบาลสิงคโปร์อาจเข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้มีการใช้พร็อพเทคแพร่หลายมากขึ้น ผ่านแนวคิดริเริ่มเกี่ยวกับนโยบายการเปิดเผยข้อมูลและบุกเบิกการใช้เทคโนโลยีบล็อคเชนที่จะทำให้การทำธุรกรรมใดๆ ไม่ต้องผ่านบุคคลที่สาม

เกี่ยวกับ JLL

เจแอลแอลเป็นบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของโลก มีสำนักงานสาขา 300 แห่งทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย เจแอลแอลเริ่มดำเนินธุรกิจมานับตั้งแต่ปี 2533 ปัจจุบันเป็นบริษัทระหว่างประเทศรายใหญ่ที่สุดในธุรกิจบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ด้วยพนักงานมากกว่า 1,600 คน และมีอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการคิดเป็นพื้นที่รวมทั้งสิ้นกว่า 5 ล้านตารางเมตร นอกจากนี้ เจแอลแอลยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์โดยภาพรวมอันดับหนึ่งของประเทศไทยติดต่อกันเจ็ดปีซ้อน ในการสำรวจความคิดเห็นของคนในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ประจำปี 2560 โดยนิตยสารยูโรมันนี (Euromoney Real Estate Survey2017)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น