เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า คนเราควรนอนหลับให้ได้วันละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง นอกจากการตื่นมาพร้อมกับความสดชื่น สามารถปฏิบัติภารกิจในแต่ละวันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแล้ว ยังลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอีกด้วย แต่ในระหว่างที่เรานอนหลับนั้น อาจเกิดอาการต่าง ๆ ขึ้น โดยที่เจ้าตัวเองอาจจะไม่รู้ตัว เช่น การนอนกรน หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ดูเผิน ๆ เหมือนจะไม่น่ากลัว แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีอันตรายถึงชีวิตได้
มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ในเครือ “พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์” เปิดเผยโดย นายแพทย์ ณัฎฐพงศ์ อื้อเศรษฐศักดิ์ อายุรแพทย์ ประจำโรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ เกี่ยวกับอาการเหล่านี้มาให้ได้ลองสังเกตกัน
นอนกรน อันตรายจริงไหม ?
เป็นความจริง เพราะอาการนอนกรน บ่งบอกถึงการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้ผู้ป่วยนอนหลับไม่สนิท สะดุ้งตื่นเป็นช่วง ๆ ง่วงนอนในเวลากลางวัน มีแนวโน้มเกิดอุบัติเหตุจราจรหรือจากการทำงานมากกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ยังพบว่า มีความเสี่ยงสูงต่อโรคความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศอีกด้วย
เด็กนอนกรน สังเกตอย่างไร ?
ในเด็กอาจมีอาการนอนกรนได้เช่นกัน โดยเฉพาะในเด็กที่มีท่าทางการนอนที่ผิดปกติ เช่น ชอบนอนคว่ำ นอนตะแคง หรือเด็กที่ไม่มีสมาธิที่จะทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้นาน หรืออาการสมาธิสั้น (Attention Deficit Disorder : ADD) เด็กที่หงุดหงิดง่าย และปัสสาวะราดในเวลากลางคืน พ่อแม่ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตบุตรหลานว่ามีอาการข้างต้นหรือไม่
ลดอาการกรนด้วยวิธีแปะปาก แปะคาง (ไม่ให้อ้า) ช่วยได้จริงไหม?
วิธีดังกล่าวข้างต้น ไม่สามารถช่วยแก้อาการนอนกรนได้ ในทางการแพทย์วิธีที่สามารถรักษาอาการนอนกรนได้ คือ การใช้เครื่องมือทางทันตกรรมช่วยเลื่อนขากรรไกรลงมาทางด้านหน้า เพื่อทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น หรือ การใช้เครื่องเป่าลมในทางเดินหายใจส่วนบน (Continuous Positive Airway Pressure : CPAP) ก็สามารถช่วยได้เช่นกัน โดยเป็นการนำหน้ากากครอบจมูก ขณะนอนหลับ หน้ากากจะต่อเข้ากับเครื่องที่สามารถขับลมแรงดันบวกออกมาขยายทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น
รับประทานอาหารและเครื่องดื่มอย่างไร เพื่อหลีกเลี่ยงการนอนกรน?
หลีกเลี่ยงยา หรือ เครื่องดื่ม ที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาลดน้ำมูกชนิดที่ทำให้ง่วง
รู้ได้อย่างไร ว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ มีอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน หากปล่อยไว้ ดังนั้นควรหมั่นสังเกตตนเองหรือให้คนใกล้ชิดช่วยสังเกต ว่ามีภาวะนี้เกิดขึ้นกับเราหรือไม่ โดยอาการที่บ่งบอกว่าอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ คือ มีอาการหายใจขัด หายใจไม่สะดวก คล้ายสำลักน้ำลาย มีอาการสะดุ้งผวา หรือหายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจากหยุดหายใจ นอนกรน นอนกระสับกระส่ายมาก
การตรวจ Sleep Test
สำหรับผู้ที่มีภาวะการหยุดหายใจขณะนอนหลับ ควรปรึกษาแพทย์ โดยทางการแพทย์จะใช้เครื่องมือ Sleep Test ในการตรวจ เหมาะสำหรับ ผู้ที่มีอาการนอนกรน และ ผู้ที่มีอาการที่บ่งบอกว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ได้แก่ ตื่นนอนตอนเช้าด้วยความอ่อนล้า ไม่สดชื่น นอนไม่เต็มอิ่ม ทั้ง ๆ ที่ได้นอนพักอย่างเต็มที่หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย ง่วงนอนตอนกลางวัน เผลอหลับกลางวัน นอนหลับไม่ราบรื่น เช่น ฝันร้าย ละเมอ กระสับกระส่าย หายใจขัด หายใจไม่สะดวก ขณะนอนหลับ มีอาการสะดุ้งผวา หายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจากหยุดหายใจ ประสิทธิภาพในการทำงาน หรือผลการเรียนแย่ลง เพราะอาการง่วง ขาดสมาธิ
หากตัวเรา หรือ คนใกล้ชิด มีอาการเหล่านี้ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรปรึกษาแพทย์ หรือ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพอื่น ๆ สามารถขอคำปรึกษาจาก ทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ได้ทั้ง 11 แห่ง ใน 10 จังหวัด ได้แก่ โรงพยาบาล พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 และโรงพยาบาล พริ้นซ์ ปากน้ำโพ 2 จังหวัดนครสวรรค์ โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี โรงพยาบาลพิษณุเวช จังหวัดพิษณุโลก โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โรงพยาบาลพิษณุเวช พิจิตร จังหวัดพิจิตร โรงพยาบาล ศิริเวชลำพูน จังหวัดลำพูน โรงพยาบาลวิรัชศิลป์ จังหวัดชุมพร โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ และ โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และสามารถติดตามสาระดี ๆ เกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่เฟซบุ๊ก : Principal Healthcare Company
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น