เที่ยวทั่วไทย อร่อยทั่วโลก อัพเดทข่าวรายวัน Lifestyle บันเทิง ทันทุกกระแสข่าว!

02 ธันวาคม 2565

กพท. มอบ AOL ให้ “แอร์ อินเตอร์ทรานสปอร์ต” ชูมาตรฐานการบินของไทย หนุนการเติบโตธุรกิจขนส่งทางอากาศ

 

กพท. มอบใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศให้ บริษัท แอร์ อินเตอร์ทรานสปอร์ต จำกัด ชูมาตรฐานสากล พร้อมสยายปีก Air Cargo รองรับการเติบโตของธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ หนุนส่งออกสินค้าไทย มุ่งเน้นความรวดเร็ว ปลอดภัย ติดตามได้  ประกาศเพิ่มฝูงบินอีก 4 ลำ เริ่มให้บริการ Q2 ปีหน้า

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 ณ ห้องประชุมสุวรรณภูมิ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย นายทศพล วงศ์กิติกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอร์ อินเตอร์ทรานสปอร์ต จำกัด หรือ สายการบินบัดเจ็ตไลน์ เข้ารับมอบใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศ (Air Operating Licence หรือ AOL) จาก นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ เพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ภายใต้มาตรฐานการบินในระดับสากล


นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย  (กพท.) กล่าวว่า ใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศ หรือ AOL เป็นหนึ่งในใบอนุญาตสำหรับการประกอบกิจการการบินพลเรือนที่มีความสำคัญสำหรับกิจการสายการบิน โดยมีกฎระเบียบและข้อกำหนดต่าง ๆ ตามกฎหมาย ภายใต้มาตรฐานสากล เป็นการยืนยันว่าผู้ได้รับใบอนุญาตจะเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสำหรับการดำเนินธุรกิจที่แท้จริง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “มาตรฐานสู่ความยั่งยืน” ของ กพท. ในการส่งเสริมและพัฒนากิจการการบินพลเรือนให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน ด้วยการรักษาและพัฒนาระบบกำกับดูแลที่เป็นธรรม เป็นไปมาตรฐานสากล ติดตามและปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อแนะนำที่พึงปฏิบัติขององค์กรระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง


ใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศ มีความสำคัญมากสำหรับการประกอบกิจการสายการบิน ทุกครั้งที่มีสายการบินได้รับมอบ จึงหมายถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย ตอกย้ำถึงความเชื่อมั่นในการดำเนินงานของ กทพ. และกิจการสายการบินในประเทศไทย ภายใต้มาตรฐานสากล” ผอ.กพท. กล่าว


สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยหลังสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19  ในปี 2565 นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเดินทางโดยเครื่องบินมากขึ้น โดยเฉพาะเที่ยวบินในประเทศที่มีความคึกคักจากภาคการท่องเที่ยว ปัจจุบันตัวเลขฟื้นตัวประมาณ 80% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีตัวเลขกลับมาราว 50%

ขณะเดียวกัน การเติบโตของบริการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo) ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสายการบินสามารถประคับประคองตัวในช่วงโควิด-19 โดยสายการบินหลายแห่งเริ่มปรับรูปแบบการให้บริการจากการขนส่งผู้โดยสารมาเป็นการขนส่งสินค้าเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ประกอบกับกระแสความนิยมในการซื้อขายออนไลน์ที่ขยายตัวทั่วโลก รวมทั้งศักยภาพในการส่งออกสินค้าไทย ที่มีโอกาสเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง

นายทศพล วงศ์กิติกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอร์ อินเตอร์ทรานสปอร์ต จำกัด (สายการบินบัดเจ็ตไลน์) กล่าวว่า สายการบินบัดเจ็ตไลน์เป็นสายการบินของคนไทย 100 %  ดำเนินธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร (Passenger Carrier) ขนาดเล็ก ในลักษณะ Air Taxi มาเป็นเวลา 7 ปี โดยมีเครื่องบินจำนวน 3 ลำ ปัจจุบันได้ขยายธุรกิจสู่บริการขนส่งสินค้าทางอากาศ  (Air Cargo) เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ จากปัจจัยการเติบโตของการซื้อ-ขายผ่าน E-Commerce Platform โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการรับสินค้าที่รวดเร็ว รวมทั้งสินค้าที่เน่าเสียง่าย เช่น สินค้าทางการเกษตร ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของการขนส่งโดยเครื่องบิน


บริษัทฯ ได้เริ่มเตรียมแผนการดำเนินธุรกิจรับขนส่งสินค้าทางอากาศในระดับภูมิภาคของประเทศไทยและระหว่างประเทศตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา และได้จัดตั้งสายการบินเพื่อรับ-ส่ง สินค้าทางอากาศ ใช้ชื่อทางการค้าว่า “Budget Lines Cargo”  อยู่ในฝูงบินของ บริษัท แอร์ อินเตอร์ ทรานสปอร์ต จำกัด ให้บริการรับเคลื่อนย้ายสินค้าทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นหีบห่อ, สิ่งตีพิมพ์, สินค้าเน่าเสียง่าย เช่น เนื้อสัตว์หรือพืชผลทางการเกษตร, สารเคมีและก๊าซภายใต้แรงดัน รวมไปถึงสินค้าอันตรายที่ได้รับอนุญาตให้ขนย้ายทางอากาศได้ ด้วยอากาศยานที่ออกแบบเพื่อการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ

การเข้ารับใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ถือเป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานในการประกอบกิจการภายใต้กฎหมายที่กำหนด เตรียมพร้อมสำหรับการให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศที่จะเริ่มให้บริการได้ภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2566  สำหรับแผนดำเนินงาน 5 ปีแรก บริษัทฯ จะทำการบินด้วยอากาศยานแบบโบอิ้ง 737-800 จำนวน 4 ลำ ไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชีย มีปริมาณการขนส่งลำละ 20-22 ตันต่อเที่ยวบิน  โดยบริษัทฯ จะให้ความสำคัญต่อความตรงเวลา สินค้าปลอดภัย สามารถติดตามสินค้าได้ และมีราคาที่สามารถแข่งขันได้   


 ประเทศไทยอยู่ในพิกัดที่ค่อนข้างดีมาก มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบกับความอุดมสมบูรณ์ทางอาหาร มีผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมากที่ยังเป็นโอกาสในการส่งออก คาดว่าการเติบโตของธุรกิจการขนส่งทางอากาศ จะมีส่วนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นกลับมาเป็นศูนย์กลางของการขนส่งทางอากาศได้ในอนาคต” นายทศพล กล่าว






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น