เที่ยวทั่วไทย อร่อยทั่วโลก อัพเดทข่าวรายวัน Lifestyle บันเทิง ทันทุกกระแสข่าว!

25 มิถุนายน 2561

มหาวิทยาลัยนานาชาติยกย่อง ชุมชนเกาะกก

สมาคมเพื่อนชุมชนมุ่งสร้างโมเดลเศรษฐกิจยั่งยืน

สมาคมเพื่อนชุมชน  แชร์ไอเดียความสำเร็จ วิสาหกิจชุมชนเกาะกก ต้นแบบชุมชน เชิงนิเวศ ผ่านเวทีการประชุมมหาวิทยาลัยนานาชาติครั้งแรก ด้านการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่นและสังคมระดับชาติ หรือ CSD ปลื้มกลุ่มนักวิชาการต่างชาติ ลงพื้นที่ศึกษาโมเดล วิสาหกิจชุมชนเกาะกก แหล่งปลูกข้าวแปลงสุดท้ายในมาบตาพุด 1 ใน 8 วิสาหกิจชุมชนต้นแบบในจ.ระยอง ผลิตสินค้าจากข้าวและสมุนไพรชุมชน ได้รับรางวัลดีเด่นชุมชนสุขภาพดีวิถีไทย ขับเคลื่อนมาบตาพุดสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ


นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช นายกสมาคมเพื่อนชุมชน เปิดเผยว่า สมาคมเพื่อนชุมชน ได้เข้าร่วมเสวนาในงานสัมมนาวิชาการ “การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและสังคมระดับชาติ(Community Social Development : CSD)”   
โดยมีอาจารย์นักศึกษาทั้งในและต่างประเทศกว่า  46 ประเทศเข้าร่วม ซึ่งสมาคมเพื่อนชุมชนถือเป็นหนึ่งในองค์กรภาคเอกชนไทยที่ประสบความสำเร็จ โดยไม่แสวงหาผลกำไร(Non Profit Organization)  มีเป้าหมายที่จะเข้าไปพัฒนาส่งเสริม และสนับสนุนชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้  เพื่อให้เกิดการพัฒนาความยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน ระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชนในทุกมิติ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดระยอง ที่จะก้าวสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ อย่างสมบรูณ์แบบใน ปี 2562

ทั้งนี้ สมาคมเพื่อนชุมชนได้มีการนำเสนอโมเดลชุมชนเชิงนิเวศ (ECO Community) ของวิสาหกิจชุมชนเกาะกก ที่เป็นต้นแบบและประสบความสำเร็จในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ จังหวัดระยอง ซึ่งปี 2561 สมาคมฯ กำลังพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับชุมชนอื่นๆ ได้เข้ามาศึกษาดูงาน และนำไปเป็นแบบอย่างในการพัฒนาชุมชนอื่นๆ ต่อไป  โดยวิสาหกิจชุมชนเกาะกกเป็นพื้นที่ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิต ซึ่งเป็นผลมาจากการย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานในพื้นที่มาบตาพุด จึงเป็นชุมชนแรกที่สมาคมเพื่อนชุมชนเล็งเห็นว่าควรเป็นต้นแบบในการพัฒนา และยกระดับตามโมเดลชุมชนเชิงนิเวศ ของพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์

ดังนั้น ทางสมาคมเพื่อนชุมชนจึงมีแผนงานเข้าไปพัฒนาตามแนวทางการพัฒนาชุมชนเชิงนิเวศ ประกอบด้วย การพัฒนาด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสมาคมฯได้ใช้เวลา 2-3 ปี ในการพัฒนาในทุกด้าน โดยเฉพาะการสร้างเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง  โดยได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้แนวทาง “ธรรมศาสตร์โมเดล”  มาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยการสร้าง องค์ความรู้ให้กับชุมชน ที่เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวผืนสุดท้ายในมาบตาพุด โดยนำมาผลิตเป็นสแนคบาร์ที่ทำจากข้าวไรเบอร์รี่ แต่ยังคงรักษาความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน โดยสมาคมฯจะเป็นพี่เลี้ยงในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการขยายตลาดของผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชนต่อไป 


“การเข้าร่วมสัมมนาฯในครั้งนี้ ถือเป็นทิศทางที่ดีของสมาคมเพื่อนชุมชนได้นำเสนอแผนการดำเนินงานด้านการพัฒนาชุมชนที่เป็นรูปธรรมในมิติต่างๆ โดยเฉพาะความสำเร็จของการเข้าไปพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเกาะกก จนเป็นโครงการที่ได้รับความสนใจและเกิดการติดตามข้อมูล เพื่อศึกษาดูงานในพื้นที่ชุมชนเกาะกก ของกลุ่มนักวิชาการจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศปากีสถาน อินเดีย ญี่ปุ่น บังคลาเทศ สิงคโปร์ เป็นต้น” นายสมชาย กล่าว


สำหรับแผนการดำเนินงานของสมาคมฯในปี 2561 มีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนพื้นที่มาบตาพุด
คอมเพล็กซ์ ไปสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (ECO Industrial Town) ภายในปี 2562 โดยตั้งเป้าหมายให้โรงงานในพื้นที่เข้าสู่การเป็นโรงงานเชิงนิเวศ(ECO Factory) 75 % ซึ่งในส่วนของสมาคมฯ ที่มีสมาชิกหลักและสมทบ 76 โรงงาน สามารถผ่านเกณฑ์ได้แล้วทั้งหมด และในปีนี้จะนำโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ไปช่วยเหลือโรงงานที่อยู่นอกกลุ่มสมาชิกซึ่งมีอยู่ประมาณ 35 โรงงาน และอยู่ในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ให้ผ่านเกณฑ์การเป็นโรงงานเชิงนิเวศ ซึ่งมั่นใจว่าทุกโรงงานจะมีความพร้อมในการเป็นโรงงานเชิงนิเวศ 


นอกจากนี้ พื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ถือเป็นพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่เมืองอุตสาหกรรม
เชิงนิเวศ(ECO Industrial Town) เกือบครบถ้วนแล้ว จากการพัฒนาพื้นที่โรงงานเชิงนิเวศต้นแบบ
(ECO Factory) ชุมชนเชิงนิเวศต้นแบบ( ECO Community ) วัดเชิงนิเวศต้นแบบ (ECO Temple) 
และโรงเรียนเชิงนิเวศ ต้นแบบ (ECO School) ซึ่งในปีนี้จะมีการขยายแผนงานไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยขึ้นอยู่กับความพร้อมของชุมชน รวมถึงต้นทุนทางวัฒนธรรมและวัตถุดิบท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้การพัฒนาเป็นไปด้วยความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสมาคมฯมีต้นแบบที่เป็นแนวทางในการพัฒนาอยู่แล้ว และมั่นใจว่าจะทำให้ชุมชนในพื้นที่อื่นๆ  เกิดการตื่นตัวและยอมรับกับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น