ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางสังคม (ประเทศไทย) และผู้นำการขับเคลื่อนความร่วมมือสร้างสังคมสุขภาวะ Imagine Thailand Movement ผู้นำขับเคลื่อนความร่วมมือสร้างสังคมสุขภาวะ Imagine Thailand Movement ประเมินสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทย แนะ 5 สิ่งที่ต้องทำหากต้องอยู่กับ COVID-19
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดCOVID-19 ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี2563 จนถึงการระบาดระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563ดร.อุดม หงส์ชาติกุลผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางสังคม (ประเทศไทย)และผู้นำการขับเคลื่อนความร่วมมือสร้างสังคมสุขภาวะ Imagine Thailand Movement สะท้อนมุมมอง ต่อการการแพร่ระบาดโควิด-19 และการแพร่ระบาดรอบใหม่ ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำหรับทุกประเทศว่าประเทศไทยนับว่าโชคดี เพราะจากการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นก่อน ทำให้สามารถตั้งหลัก เรียนรู้ เรียนลัด ประเมินจากสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ แล้วนำไปสู่การบริหารจัดการกับปัญหาในประเทศได้
“ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในครั้งแรกเมื่อปลายปี 2562 การแพร่ระบาดเกิดขึ้นในต่างประเทศก่อน และมีเวลาให้เราเรียนรู้ ตั้งหลักพอสมควรก่อนที่การแพร่ระบาดจะมาถึงประเทศไทย เราจึงสามารถเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ หากเราเฝ้าสังเกตให้ดี และไม่ตื่นตระหนกจนมากเกินไป เราจะสามารถนำวิธีการปฏิบัติต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการจัดการกับการแพร่ระบาดได้ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยก็จัดการกับการแพร่ระบาดในครั้งแรกได้ดี จนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ด้วยความสามารถของบุคลากรด้านสาธารณสุข ระบบสาธารณสุข ผู้นำและที่สำคัญอย่างยิ่งความร่วมมือของประชาชนคนไทย สำหรับการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เมื่อปลายปี 2563 ก็เช่นกัน การแพร่ระบาดในต่างประเทศยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก ณ วันที่ 11มกราคม 2564 มีทั้งสิ้น 90.2 ล้านคน เพิ่มจากวันที่ 26 ธันวาคม 2563มีผู้ติดเชื้อเพียง 79.9 ล้านคนหลายประเทศชั้นนำของโลก สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง และหลายประเทศมีการระบาดในรอบที่ 2 รอบที่ 3 รวมถึงในหลายประเทศมีผ่อนคลายมาตรการแล้วกลับมาล็อคดาวน์อีกหลายครั้งเราได้เรียนรู้และจะนำมาประยุกต์ปฏิบัติอะไรได้บ้างจากสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก”
ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางสังคม (ประเทศไทย) ผู้นำการขับเคลื่อนความร่วมมือสร้างสังคมสุขภาวะ Imagine Thailand Movement |
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดรอบใหม่ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าในครั้งแรกมาก ดร.อุดม สะท้อนว่า จากขนาดของปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ภาครัฐจะสามารถบริหารจัดการและแก้ปัญหานี้ได้แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยเห็นว่า ภาคเอกชนภาคประชาสังคมและคนไทยทุกคน ควรต้องเข้ามามีส่วนร่วม ให้ความร่วมมือ รวมถึงสนับสนุนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องความร่วมมือในการดูแลตนเอง รักษาระยะห่างทางสังคม การตรวจหาผู้ป่วย รวมถึงสามารถเข้ามามีส่วนการช่วยสร้างโรงพยาบาลสนามหรือสถานที่พักพิงเพื่อรองรับผู้ป่วย
“และจากการเรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ หากเราจัดการกับระบาดระลอกใหม่ไม่ดีพอ มีโอกาสที่การแพร่ระบาดจะรุนแรง และเราอาจเห็นจำนวนผู้ที่ติดเชื้อในประเทศจำนวนมากเป็นจำนวนหลักหลายหมื่น หลักหลายแสนได้ ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่คราวนี้มีขนาดที่ใหญ่มาก เราไม่สามารถสืบค้นหาต้นตอของการแพร่ระบาดได้ เราต้องตรวจหาเชื้อในแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยซึ่งมีไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน ต้องเตรียมโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อที่มีโอกาสมากเป็นจำนวนหลักแสนคน”
ขณะที่ความหวังของการจัดการกับการแพร่ระบาด COVID-19 อยู่ที่วัคซีน ซึ่งขณะนี้มีการรับรองวัคซีนหลายชนิดและในหลายประเทศก็ได้เริ่มแจกจ่ายวัคซีนกันแล้ว แต่ดร.อุดม ซึ่งติดตามสถานการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิดประเมินว่า ศึกครั้งนี้คงยังไม่จบลงในเร็ววัน เพราะกว่าจะมีการแจกจ่ายวัคซีนชุดแรกให้คนไทย ที่มีการประเมินว่าไม่เกินเดือนเมษายน และเห็นว่ากว่าคนไทยจะได้รับวัคซีนครบทุกคน ก็อาจจะต้องใช้เวลาอีกแรมปี ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนจะต้องเข้าใจสถานการณ์ และเริ่มคิดว่า ระหว่างนี้เราจะรับมือ หรืออยู่กับโควิด-19 ไปได้อย่างไร และจะทำอย่างไรกับความท้าทายใหม่ๆ ของโรคระบาด ที่ล่าสุดประเทศอังกฤษ ได้มีการยืนยันเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ทำให้เกิดเป็นความกังวลว่าวัคซีนที่พัฒนาขึ้นเสร็จแล้วหรือที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอยู่ในขณะนี้จะสามารถจัดการกับ COVID-19 ที่กลายพันธุ์นี้ได้หรือไม่
“ล่าสุด Lisa Wieland ซึ่งเป็น CEO ของ Boston Logan Airport ได้กล่าวไว้จากการสัมภาษณ์ของ McKinsey & Company ว่า “Prepare for the Marathon and be ready for the course of change” เราควรเตรียมความพร้อมสำหรับมาราธอนระยะยาวและพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น จากการประเมินเราคงต้องอยู่กับ COVID-19 ไปอีกไม่น้อยกว่า 12 เดือน จนกระทั่งเรามีวัคซีนป้องกัน COVID-19 เพียงพอ คำถามคือเราคนไทยจะอยู่กับ COVID-19 อย่างไร ภาครัฐควรจะจัดการกับการแพร่ระบาดครั้งนี้อย่างไร จากบทเรียนครั้งที่ผ่านมา ผมมองว่าภาครัฐคงเลี่ยงที่จะใช้มาตรการล็อคดาวน์แบบในคราวแรก เพื่อลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ขณะเดียวกันจากการแพร่ระบาดที่เป็นวงกว้างขนาดนี้ มาตรการดังกล่าวก็อาจจะไม่ได้ผล เพราะเราไม่สามารถทราบที่มาที่ไปต้นตอของการแพร่ระบาดได้ สิ่งที่ควรต้องทำเร่งด่วนคือต้องพยายามตรวจคัดกรองผู้ที่ติดเชื้อแล้วโดยเร็ว และป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดแบบกลุ่มให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มแรงงานต่างด้าว ผู้ที่ลักลอบข้ามแดนไปทำงาน หรือไปเล่นการพนัน”
ห้วงเวลานี้คนไทยเราควรทำอย่างไร ดร.อุดม หงส์ชาติกุลผู้นำการขับเคลื่อนความร่วมมือสร้างสังคมสุขภาวะ Imagine Thailand Movementซึ่งเป็นผู้นำความคิดเชิงบวก แนะนำ 5 สิ่งต้องทำ ในสถานการณ์นี้ว่า
1. ควรตระหนัก ไม่ตระหนก เพราะเราคงไม่สามารถหยุดอยู่กับที่แล้วรอจนกระทั่งให้ไวรัสหายไป โดยมีส่วนร่วม ให้ความร่วมมือ และสนับสนุนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดให้เคร่งครัดที่สุด และร่วมกันให้กำลังใจเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัคร และภาคส่วนต่างๆ ที่เป็นแถวหน้ารับมือกับโรคระบาดนี้อย่างหนักหน่วง
2. สิ่งสำคัญที่ต้องทำเป็นประจำคือ ต้องดูแลตนเองด้านสุขอนามัยอย่างต่อเนื่อง หรือที่เรียกว่า อย่าให้การ์ดตก โดยการใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือกินร้อน ช้อนกลางของเรา หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะร่วมกันกับผู้อื่น รักษาระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในพื้นที่แออัดเรียกว่าอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ
3. สิ่งที่ต้องสร้างให้ตนเองทุกวันคือการสร้างมุมมองในเชิงบวก เพราะในทุกโอกาสจะมีวิกฤต และในทุกวิกฤตมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ ซึ่งขึ้นอยู่กับมุมมอง โดยพยายามทำความเข้าใจสถานการณ์อย่างแจ่มแจ้ง ค่อยๆ บริหารจัดการ จัดลำดับความสำคัญ โดยใช้สติปัญญา มากกว่าการใช้อารมณ์ ซึ่งไม่ได้ผล และเกิดผลเสียมากกว่าผลดี
4. ในการทำงานสิ่งที่เราควรต้องทำ คือวางแผนกิจกรรม การบริหารงาน บริหารกิจการ ที่ต้องทำ ให้ต่อเนื่อง ตลอดจนเติมความรู้ ทักษะที่จำเป็นใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยหากภายในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนนี้ ประมาณวันที่ 24 มกราคม 2564 จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันไม่พุ่งขึ้นเป็นหลักหลายพันคน ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ เชื่อว่าภาครัฐก็น่าที่จะคลายมาตรการเรื่องของความร่วมมือในการจำกัดการเดินทางลง
5. ภายในครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในบ้าน หรือภายในชุมชน ควรจะต้องมีการช่วยกันสร้างพลังบวกให้แก่กันเสมอแม้สมาชิกในครอบครัวจะมีความเห็นต่างกัน ในหลายๆเรื่อง รวมถึงเรื่องรับมือกับการแพร่ระบาด หรือมีความไม่เข้าใจกันเนื่องจากวัยที่ต่างกัน ส่งผลต่อการรับรู้ที่ต่างกัน ในสถานการณ์ที่มีความเปราะบางของอารมณ์ความรู้สึก ขอให้มีการรับฟังกันอย่างตั้งใจ เปิดใจ และเข้าใจว่า ความเห็นต่างเป็นปกติ ควรเลี่ยงการโต้เถียง เลี่ยงการใช้อารมณ์ที่มักเกิดจากจินตนาการของตนเอง โดยให้ใช้วิธีรับฟัง ให้เต็มที่ก่อนมีการเติมเต็ม ให้ข้อคิด ให้กำลังใจกันเสมอ
ห้องปฏิบัติการทางสังคม และ Imagine Thailand Movement กำลังขับเคลื่อน ความร่วมมือเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะ ลดปัจจัยเสี่ยงให้เยาวชนไทย และสืบสานคุณค่าสังคมอายุยืน
โดยท่านสามารถดูรายละเอียดหรือมีส่วนร่วมได้ที่
Facebook: Imagine Thailand Movement https://www.facebook.com/imaginethailandmovement/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น