เที่ยวทั่วไทย อร่อยทั่วโลก อัพเดทข่าวรายวัน Lifestyle บันเทิง ทันทุกกระแสข่าว!

19 สิงหาคม 2566

ถอดบทเรียนจากหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี คุณค่าของกำลังใจและความประณีต

ไกลจากเมืองหลวงออกมาประมาณ 30 กว่ากิโล ลัดเลาะไปตามถนนสายเศรษฐกิจ ทางไปอำเภอกระทุ่มแบน มีชุมชนเล็กๆ ชื่อ หมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี มีสมาชิกประมาณ 200 ชีวิต รวมตัวกันสร้างงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องเบญจรงค์ ถ้วย ชาม ไห ลวดลายคราม อันวิจิตรประณีต ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกและกวาดรางวัลมากมายภายในประเทศ จนกลายเป็นที่ภูมิใจของจังหวัดสมุทรสาคร ทั้งยังเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อันน่าประทับใจ อัญรินทร์ ชลสายพันธ์ กรรมการบริหาร เดอะสเฟีย เพชรเกษม โครงการคอมมูนิตี้มอลล์ที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดสมุทรสาคร ในย่านอ้อมน้อย ในฐานะนักธุรกิจในพื้นที่ได้เล่าถึงเรื่องราวที่น่าสนใจของหมู่บ้านแห่งนี้

“ย้อนกลับไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ย่านอ้อมน้อยมีอดีตโรงงานทำชามตราไก่ ชื่อ “เสถียรภาพ” ซึ่งเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในย่านในช่วงเวลานั้น ถ้าครอบครัวใดที่มีฐานะไม่สู้ดีนัก ก็มักจะพากันไปสมัครเป็นคนงานในโรงงานแห่งนี้ ซึ่งต้องเรียนรู้งานด้านเซรามิก ตั้งแต่กระบวนการผลิตทุกขั้นตอน ไปจนถึงลงมือเขียนลวดลาย และเนื่องจากการเขียนลายเป็นงานที่ยาก จึงต้องฝึกฝนอย่างประณีตและค่อยเป็นค่อยไป ทางโรงงานเสถียรภาพจำเป็นต้องมีวิทยากรมาถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาให้ โดยมีอาแปะจากเมืองจีนเป็นผู้สอนการเขียนลายคราม และอาจารย์สงวน รักมิตร เป็นผู้สอนเขียนลายเบญจรงค์ ผู้ที่ทำงานอยู่ในแผนกเขียนลายครามและลายเบญจรงค์ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และส่วนมากยังเป็นสมาชิกของกลุ่มหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดีในปัจจุบันอีกด้วย” 



อัญรินทร์ เล่าต่อว่า “โรงงานเสถียรภาพมีอันต้องปิดกิจการลงในปี 2525 ทำให้คนงานนับร้อยชีวิตต้องตกงานและ  แยกย้ายกันไปทำงานตามโรงงานอื่น คุณอุไร แตงเอี่ยม คือหนึ่งในนั้น เธอเดินหน้าสู้ชีวิตต่อ โดยยึดเอาฝีมือและประสบการณ์ในการเขียนลาย ลงสี เครื่องลายครามและถ้วยชามเบญจรงค์มาทำมาหากิน และได้ตัดสินใจลงทุนด้วยเงินเก็บสองหมื่นบาท ไปซื้อถ้วยชามแจกันเซรามิกสีขาว มาวาดลวดลายตามถนัด หลังจากนั้นก็ได้ชวนลูกหลานและบรรดาอดีตคนงานโรงงานเสถียรภาพมารวมตัวกันอีกครั้ง แบ่งหน้าที่กัน ลงสี วาดลวดลาย หากใครทำไม่เป็น คุณอุไรก็จะสอนให้ หลังจากสู้กัดฟันกันอยู่พักนึง สินค้าเครื่องเบญจรงค์ดอนไก่ดีก็เริ่มเป็นที่ต้องการมากขึ้น จำนวนคนทำจึงเพิ่มขึ้นตามลำดับ ฐานลูกค้าก็เริ่มมีมากขึ้นทั้งไทยและต่างประเทศ จนในที่สุดก็เติบโตขึ้นเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือนย่อมๆในหมู่บ้านจนได้” 

ปัจจุบันนี้ หมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดีมีโรงผลิตเครื่องเบญจรงค์อยู่ 5 แห่ง มีการแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน โดยมีโรงปั้น 1 โรง คือ โรงปั้นสังวาลเซรามิก จะคอยปั้นเครื่องดินออกมาในรูปทรงต่างๆ เพื่อส่งต่อให้โรงเขียนลาย 4 โรง ได้ออกแบบลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป ซึ่งประกอบด้วย ‘อุไรเบญจรงค์’ ที่จะเน้นลวดลายในแบบโบราณสมัยรัชกาลที่ 2  และรัชกาลที่ 5 รวมไปถึงออกแบบลวดลายที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมและประเพณีของไทย ‘หนูเล็กเบญจรงค์’ เน้นในเรื่องพุทธประวัติ ลายไม้เลื้อย ลายจักรี ส่วน ‘แดงเบญจรงค์’ จะออกแบบลวดลายของสินค้าในชีวิตประจำวัน อย่าง พวงกุญแจ กรอบรูป จาน ชาม และสุดท้าย ‘ปานรดาเบญจรงค์’ จะโดดเด่นในเรื่องของลายนกยูง พร้อมกับเครื่องเบญจรงค์ที่เป็นแก้วและชุดน้ำชา 

เครื่องเบญจรงค์ของหมู่บ้านดอกไก่ดีนับเป็นผลงาน OTOP ระดับห้าดาว ที่มีมาตรฐานรองรับระดับสากล ด้วย    ความโดดเด่นทั้งในเรื่องคุณภาพและกระบวนการผลิต ซึ่งคุณอุไรย้ำนักย้ำหนาว่าจะไม่ทำงานแบบสุกเอาเผากินเด็ดขาด  ตั้งแต่การเลือกเครื่องปั้นที่มีเนื้อขาวอย่างดี เพื่อนำมาวาดลวดลาย ในส่วนของกระบวนการลงสีมีทั้งแบบดั้งเดิมคือแบบมัน และแบบใหม่คือแบบนูน ขั้นตอนต่อมาหลังจากลงลายเสร็จแล้วนั้น จะต้องนำเครื่องเบญจรงค์เข้าเตาเผาในอุณหภูมิ 800-1,200 องศาเซลเซียส ประมาณครึ่งวัน เมื่ออยู่ในเตาเผาจนครบเวลาแล้ว ก็จะนำมาเข้าเตาอบในอุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส ต่ออีกสามชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้ลวดลายที่อยู่บนเครื่องเบญจรงค์นั้นมีสีที่สดขึ้นและลวดลายชัดเจนยิ่งขึ้นนั่นเอง 

นอกจากจะโดดเด่นเรื่องความเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมแล้ว หมู่บ้านดอนไก่ดียังมีการต่อยอดเปิดเป็นโฮมสเตย์เป็นที่พักให้แก่นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตและศึกษากระบวนการผลิตเครื่องถ้วยเบญจรงค์อีกด้วย  หลังจากได้พูดคุยกับคุณอุไรและได้เรียนรู้เรื่องราวของหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี อัญรินทร์ ได้เผยว่า “กำลังใจของตัวเราเองคืออาวุธที่แข็งแกร่งที่สุด มันทำให้เราเป็นนักสู้ ทำให้กล้าที่จะนำสิ่งที่เรามีอยู่ในตัว ไม่ว่าจะเป็นทักษะใดทักษะหนึ่ง หรือคุณลักษณะใดคุณลักษณะที่มีติดตัว มาใช้สร้างเป็นอาชีพและพัฒนาขึ้นจนโดดเด่น คุณอุไรได้ใช้ความรู้ความสามารถด้านการเขียนลายลงสีมาสร้างธุรกิจ สร้างความโดดเด่นด้วยความประณีต ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บุกเบิกหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี ดึงช่างฝีมือมากมายมารวมกัน โดยตลอดเวลา ได้พยายามรักษาและหมั่นพัฒนาคุณภาพการผลิตและผลงาน ไปจนถึงผลักดันให้สินค้าเป็นที่รู้จักในวงกว้าง สร้างชื่อเสียงจนกระฉ่อนไปไกลเกินหมู่บ้านและอำเภอที่ตั้ง หรือแม้แต่ตัวจังหวัดเอง”

“จนทุกวันนี้ มีผู้คนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนมากต้องการเดินทางมาจังหวัดสมุทรสาคร มาทำความรู้จักสถานที่แห่งนี้มากขึ้น สินค้าเครื่องลายครามและเบญจรงค์จากหมู่บ้านนี้กลายเป็นของใช้ของฝากที่ล้ำค่า ช่วยเชิดหน้าชูตาให้กับจังหวัด”

“ในฐานะที่ตัวเองเป็นนักธุรกิจในจังหวัดสมุทรสาครเช่นกัน รู้สึกชื่นชมความสำเร็จของหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี ที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดเป็นอย่างมาก และจะนำเรื่องราวของหมู่บ้านแห่งนี้มาเป็นบทเรียนและแรงบันดาลใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น