เที่ยวทั่วไทย อร่อยทั่วโลก อัพเดทข่าวรายวัน Lifestyle บันเทิง ทันทุกกระแสข่าว!

30 พฤษภาคม 2565

GIT Open House

GIT เปิดตัวภาพลักษณ์ใหม่ ชู GIT Standard ยกระดับมาตรฐาน ดันอุตสาหกรรมกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย แข่งขันเวทีโลกอย่างยั่งยืน 

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดตัวภาพลักษณ์ใหม่ จัดงาน GIT Open House โชว์ศักยภาพงานบริการ มุ่งมั่นสร้างความน่าเชื่อถือและเป็นเลิศให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย (Creating Trust and  Excellence) พร้อมเปิดตัว GIT Standard ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับให้แข่งขันได้ในเวทีโลกอย่างยั่งยืน 

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบัน GIT


นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบัน กล่าวว่า สถาบันได้จัดกิจกรรม GIT Open House เพื่อเปิดตัวภาพลักษณ์ใหม่ มุ่งมั่นสร้างความน่าเชื่อถือและเป็นเลิศให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย (Creating Trust and  Excellence) โดย GIT ได้มีการออกแบบและใช้โลโก้ใหม่ที่สะท้อนภาพลักษณ์ที่ทันสมัย จดจำง่ายและเป็นสากล โดยการออกแบบโลโก้สื่อความหมายถึงภารกิจหลัก 6 ประการ ได้แก่ 1. การเป็นผู้วิเคราะห์ ตรวจสอบ และกำหนดมาตรฐานด้านต่างๆ ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ 2. การเป็นผู้นำด้านมาตรฐานการตรวจสอบและออกใบรับรองคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับ 3. การเป็นผู้ วิจัย และ พัฒนาระบบฐานข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทย 4. การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับในทุกภาคส่วน 5. การเป็นสถาบันหลักของชาติ และการมีห้องปฏิบัติการที่มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล 6. การเป็นศูนย์กลางในการร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

โดยสัญลักษณ์ที่ใช้เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด (Diamond Shape) ที่สะท้อนถึงการเจียระไน ความเฉียบคม  และความเป็นไทย จัดเรียงในรูปแบบแนวคลื่นที่สื่อให้เห็นถึงความพร้อมที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยอย่างไม่หยุดยั้ง








กิจกรรม GIT Open House ไม่เพียงแต่เปิดตัวภาพลักษณ์ใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดตัว GIT Standard มาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่า ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากลโดยใช้ GIT Standard ประกอบด้วย 1. มาตรฐานด้านอัญมณีและเครื่องประดับ 2. มาตรฐานด้านโลหะมีค่า 3. มาตรฐานด้านบุคลากรของห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ สถาบันยังผลักดันให้มีการนำมาตรฐานไปใช้กับห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับห้องปฏิบัติการในทุกด้าน 




ภายในงานยังมีการแนะนำนวัตกรรมในงานบริการต่างๆ ของสถาบัน ได้แก่ การพัฒนามาตรฐานสีสำหรับทับทิม ไพลิน และพัดพารัชชา ซึ่งเป็นอัญมณีที่สำคัญและได้รับความนิยมในตลาด การพัฒนา AI เพื่อระบุแหล่งกำเนิด (Origin Determination) สำหรับพลอยคอรันดัมและอัญมณีอื่นๆ ที่สำคัญ เพื่อสามารถให้บริการตรวจสอบที่รวดเร็วและแม่นยำ การแนะนำระบบฐานข้อมูลวิชาการและศูนย์เรียนรู้ด้วยตนเองที่เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ด้านอัญมณีและเครื่องประดับอย่างครบวงจร มีทรัพยากรสารสนเทศในรูปแบบสิ่งพิมพ์ และสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ ที่พร้อมที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ศูนย์ฝึกอบรมที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมเนื้อหาครอบคลุมทุกมิติในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ทั้งรูปแบบ Online และ Onsite นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการด้านต่างๆ อาทิ นักอัญมณีศาสตร์ นักวิชาการโลหะมีค่า นักออกแบบ ได้ร่วมพูดคุยให้คำแนะนำกับผู้ที่เข้าร่วมงาน

การจัดกิจกรรมในวันนี้ จะมีส่วนช่วยในการต่อยอดธุรกิจและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย  ซึ่งเราชาว GIT ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักของประเทศด้านอัญมณีและเครื่องประดับ จะมุ่งมั่นเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และเป็นเลิศให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย (Creating Trust and Excellence) ในฐานะศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับโลกอย่างยั่งยืนต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง นายสุเมธ กล่าวปิดท้าย


สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 02 634 4999 ต่อ 635-642


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น