เที่ยวทั่วไทย อร่อยทั่วโลก อัพเดทข่าวรายวัน Lifestyle บันเทิง ทันทุกกระแสข่าว!

04 กันยายน 2561

เจ้าบ้านที่ดี Local Hero

ททท. เปิดอบรมโครงการอาสาสมัครเพื่อการท่องเที่ยว 
"เจ้าบ้านที่ดี Local Hero" 




การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดการอบรมโครงการอบรมอาสาสมัครเพื่อการท่องเที่ยว (เจ้าบ้านที่ดี) Local Hero เพื่อพัฒนาศักยภาพทางบุคลากรในชุมชนท่องเที่ยวให้มีทักษะ ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ทั้งด้านการตลาด กลยุทธ์ การสื่อสาร มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าและบริการ รวมถึงการเป็นเจ้าบ้านที่ดี ในการต้อนรับนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างความประทับใจและความพึงพอใจในการเดินทางท่องเที่ยวพื้นที่ของชุมชน




นายจรัญ อ้นมี รองผู้ว่าการด้านบริหาร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวชุมชน ปัจจัยหนึ่งที่ ททท.ให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวนั่นก็คือทรัพยากรบุคคลทางด้านการท่องเที่ยว เราจึงมองว่าหากชุมชนมีความพร้อม มีศักยภาพ มีจิตสำนึก มีความรับผิดชอบ น่าจะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจและพึงพอใจสามารถบอกเล่าเรื่องราวผ่านสื่อต่างๆ เชิญชวนให้มีคนเที่ยวตามหรือกลับมาเที่ยวซ้ำอีกครั้ง ททท.จึงได้จัดโครงการอบรมอาสาสมัครเพื่อการท่องเที่ยว (เจ้าบ้านที่ดี) Local Hero ขึ้นมาเพื่อฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรในชุมชนให้มีความรู้ ทักษะ ความคิดสร้างสรรค์พัฒนาสินค้าบริการของชุมชน รวมถึงเกิดจิตสำนึกที่ดี มีความรับผิดชอบ สามารถต้อนรับนักท่องเที่ยว ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโต และเกิดความยั่งยืน




นายจรัญ กล่าวว่า โครงการอาสาสมัครเพื่อการท่องเที่ยว หรือ เจ้าบ้านที่ดี จะช่วยทำให้พวกเขาเป็นเจ้าบ้านที่ดีต่อนักท่องเที่ยว โดยผ่านการฝึกอบรม ผ่านกระบวนการต่างๆ จากทีมวิทยากรที่มีชื่อเสียง มีความรู้ความสามารถอันดับต้นๆ ของเมืองไทย โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับใบประกาศนียบัตรหลังจบหลักสูตรการอบรม โดยเชื่อมั่นว่าผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะนำความรู้ที่ได้ไปขยายต่อกับคนในชุมชน ร่วมกันสร้างสรรค์พัฒนาสินค้าและบริการของตนเองให้ดียิ่งขึ้น


รองผู้ว่าการด้านบริหาร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอธิบายเกี่ยวกับหลักสูตรการฝึกอบรมเพิ่มเติมว่า เนื้อหาหลักๆ ของการเรียนของหลักสูตรฝึกอบรมและศึกษาดูงานเพื่อพัฒนาอาสาสมัครเพื่อการท่องเที่ยว มีเนื้อหาที่น่าสนใจคือ 1.การบริการที่เป็นเลิศ และการเป็นเจ้าบ้านที่ดี 2.การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนด้วยอัตลักษณ์เฉพาะ  3.การศึกษาดูงาน  4.Keynote Speaker แนวคิดเชิงบวก และแรงบันดาลใจในการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาชุมชน และการบริการในฐานะการเป็นเจ้าบ้านที่ดี  5.ศิลปะในการสื่อสารการเป็นเจ้าบ้านที่ดี 6.การตลาดสมัยใหม่ และการตลาดออนไลน์เพื่อการท่องเที่ยว และ 7.Story Telling เทคนิคการสร้าง Story เพื่อใช้ในการท่องเที่ยวโดยชุมชน

“ตลอดระยะเวลา 18 ชั่วโมงของการอบรม ผู้เข้าร่วมจะได้รับความรู้ พร้อมทั้งฝึกทักษะในห้องเรียน ทั้งยังได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากชุมชนอื่นๆที่เข้าร่วม และชุมชนที่ได้ลงไปศึกษาดูงาน ความเข้มข้นของกิจกรรม และประสบการณ์จากวิทยากรที่ได้ถ่ายทอด เชื่อว่าผู้เข้าร่วมโครงการจะได้นำกลับไปใช้ ประยุกต์ และพัฒนาสินค้าบริการของตนเองให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชนให้เกิดการเป็นเจ้าบ้านที่ดี มีความสามารถต้อนรับนักท่องเที่ยว และสร้างความพึงพอใจ นอกจากนี้ยังสามารถสร้างยอดขายหรือการตลาดให้กับการท่องเที่ยวของตนเองให้เติบโตเพิ่มขึ้นอีกด้วย”



“ททท.ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาภาคผู้ประกอบการ ชุมชน และประชาชน ในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวให้มีความรู้ความสามารถในการแข่งขันในบริบทการตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปในเวทีการส่งเสริมการขายในระดับต่างๆ รวมทั้งมีจิตสำนึก มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เข้าใจบทบาทของการเป็นเจ้าบ้านที่ดี ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยว สร้างความประทับใจและความพึงพอใจในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในชุมชน เพื่อขยายผลสู่การบอกต่อการมาเที่ยวซ้ำ เป็นการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย”


สำหรับโครงการอบรมอาสาสมัครเพื่อการท่องเที่ยว นายจรัญระบุว่า สำหรับโครงการอบรมอาสาสมัครเพื่อการท่องเที่ยว จะมี 2 หลักสูตร ทั้งสองจะใช้เวลาในการฝึกอบรมจำนวน 18 ชั่วโมง หรือประมาณ 3 วัน 2 คืน ประกอบไปด้วย 1.หลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาผู้นำชุมชน (Train the Trainers) จัดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ผู้เข้าร่วมจำนวน 100 คน ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมอวานี เอเทรี่ยม กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 15-17 สค.ที่ผ่านมา และ 2.หลักสูตรฝึกอบรมและศึกษาดูงานเพื่อพัฒนาอาสาสมัครเพื่อการท่องเที่ยว จะจัดขึ้นใน 5 ภูมิภาค ประกอบไปด้วย ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย ภาคกลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดบุรีรัมย์ ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง และภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีผู้เข้าร่วมภาคละ 300 คน




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น