ทีเส็บผนึกภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนคัดเลือกสินค้าและบริการในท้องถิ่นของจังหวัดเชียงรายมาต่อยอดและพัฒนาเป็นสินค้าและบริการด้านไมซ์ หวังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและบริการในท้องถิ่นของไทยอย่างยั่งยืน
สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคเหนือ โดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. เล็งเห็นความสำคัญของการนำอัตลักษณ์ของเมืองมาสร้างเสน่ห์ที่แตกต่าง เพื่อส่งมอบคุณค่าแก่นักเดินทางไมซ์ผ่านสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมไมซ์ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงรายซึ่งมีสินค้าและบริการที่มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น จึงได้ดำเนินโครงการยกระดับการ
พัฒนาและการมีส่วนร่วมของชุมชนสู่ Product MICE Premium โดยใช้วัตถุดิบ งานศิลปหัตถกรรมของสินค้าและบริการในท้องถิ่น เพื่อนำมาต่อยอดเป็นสินค้าและบริการที่ใช้ในกิจกรรมไมซ์ อาทิ ของว่าง อาหาร ของชำร่วย ของฝาก หรือของตกแต่งภายในโรงแรม โดยร่วมกับ 4 ภาคีเครือข่ายหลัก ได้แก่ อพท. สำนักงานพื้นที่พิเศษ, กรมส่งเสริมสหกรณ์, กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และกรมการพัฒนาชุมชน ในการนำเสนอสินค้าและบริการที่โดดเด่นจากชุมชนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายจำนวน 13 ชุมชน มาทำการคัดเลือกผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย, องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์, หอการค้าจังหวัดเชียงราย, YEC เชียงราย, สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดเชียงราย, สมาคมโรงแรมจังหวัดเชียงราย, สมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการร้านอาหารจังหวัดเชียงราย, บริษัท เชียงรายพัฒนาเมือง และสมาคมมัคคุเทศก์จังหวัดเชียงราย พร้อมทั้ง ยังรับฟังผลการคัดเลือกจากความต้องการตลาดในประเทศและต่างประเทศ จากผู้แทนสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย)และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
โดยสินค้าและบริการจาก 13 ชุมชนที่ได้รับการนำเสนอเข้ามาโดยหน่วยงานภาคีนั้นประกอบด้วยสินค้าและบริการที่เป็นอัตลักษณ์ของเชียงรายหลากหลายหมวดหมู่ อาทิ งานหัตถกรรมผ้า จักสาน และหัตถกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ, ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพจากภูมิปัญญา เช่น สมุนไพร เครื่องหอม ผลิตภัณฑ์ประทินผิว, อาหารพื้นถิ่นขึ้นชื่อ เช่น ชา กาแฟ สับปะรด และอาหารแปรรูปต่าง ๆ เป็นต้น
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ สวรรค์บนดินฟาร์ม แอนด์ ทีเฮ้าส์ เชียงราย นับเป็นการประชุมครั้งแรกเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่ได้รับการนำเสนอ เพื่อให้ภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมประชุมลงคะแนนตามหลักเกณฑ์ความเหมาะสมในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านความเหมาะสมกับตลาดไมซ์, ด้านการนำเสนออัตลักษณ์และภูมิปัญญา, ด้านศักยภาพการผลิต รวมทั้งด้านการตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน ซึ่งได้รับเกียรติจากนายสมหวัง บุญระยอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมดังกล่าว หลังจากนี้จะมีการจัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับภาคีเครือข่ายเดิม ร่วมกันคัดผลิตภัณฑ์เหลือเพียงชุมชนละหนึ่งผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอด จัดทำร่างผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่จะนำไปผลิตจริงพร้อมแผนการผลิตที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน และกำหนดราคาจัดจำหน่ายที่เหมาะสมกับกลุ่มตลาดเป้าหมายต่อไป
ทั้งนี้ กิจกรรมยกระดับการพัฒนาและการมีส่วนร่วมของชุมชนสู่ Product MICE Premium อยู่ภายใต้โครงการไมซ์สร้างสรรค์ รวมพลังชุมชนภาคเหนือ ซึ่งในปีนี้ได้กำหนดพื้นที่ดำเนินการในจังหวัดเชียงรายที่ถือเป็นพื้นที่ศักยภาพของทีเส็บภาคเหนือ โดยมุ่งหวังจะต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและบริการของเชียงรายด้วยการนำเข้ามาสู่การเป็นสินค้าและบริการของไมซ์ เพื่อจะสามารถสร้างรายได้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน โดยนอกจากโครงการนี้แล้ว ทีเส็บภาคเหนือ ยังมีโครงการสนับสนุนการตลาดเมืองที่มีศักยภาพด้วยการกำหนดจุดขายเมืองจากการพัฒนา City DNA หรือ อัตลักษณ์ของเมืองเชียงราย และยังให้การสนับสนุนการประชุมเครือข่ายชาและกาแฟ ปี 2566 ที่ดำเนินการโดยสถาบันชาและกาแฟแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ทีเส็บภาคเหนือให้ความสำคัญกับการทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของเมืองผ่านกลไกของไมซ์ ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของทีเส็บที่จะใช้ไมซ์ในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกระจายรายได้แก่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น