เที่ยวทั่วไทย อร่อยทั่วโลก อัพเดทข่าวรายวัน Lifestyle บันเทิง ทันทุกกระแสข่าว!

30 สิงหาคม 2566

GIT อวดโฉมเครื่องประดับสุดตระการตา“Glitter & Gold–The Brilliant Way of Gold Shine”

ในงานตัดสินการประกวด GIT World’s Jewelry Design Award 2023 สร้างศักยภาพนักออกแบบสู่สากล


30 สิงหาคม 2566: สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT จัดพิธีมอบโล่รางวัล พระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี  และประกาศผลผู้ชนะเลิศโครงการ GIT World’s Jewelry Design Awards 2023 ใน ธีม Glitter & Gold – The Brilliant Way of Gold Shine” ลุ้นรางวัลรวมมูลค่ากว่า 7,000 USD โดยได้รับเกียรติจาก นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี ณ ลานแฟชั่นฮอลล์ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน


การประกวดในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิดนี้ “Glitter & Gold – The Brilliant Way of Gold Shine” เครื่องประดับที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสีทองอร่ามกับประกายระยิบระยับของอัญมณีหลากชนิดที่ผสมผสานเข้ากันจนเป็นงานสร้างสรรค์ที่ลงตัว โดยมีนักออกแบบต่างชาติส่งชิ้นงานจำนวน 497  ชิ้นงาน และจากประเทศไทย 273 ชิ้นงาน รวมผลงานที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกเข้าร่วมประกวดมากถึง 770 ผลงาน  โดยสถาบันและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้ตัดสินรอบคัดเลือกแบบวาด และคัดเลือกจนเหลือ 30 แบบ และเลือกเฟ้นหาแบบวาดที่มีคะแนนสูงสุด 4 แบบวาด เพื่อนำไปผลิตเป็นเครื่องประดับ และแสดงผลงานพร้อมเหล่านางแบบในรอบชิงชนะเลิศ




นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ประธานกรรมการสถาบัน เผยว่า สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับถือได้ว่าเป็นสินค้าที่สร้างเม็ดเงินจำนวนมากให้กับประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.21 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย  แม้ว่าล่าสุดตัวเลขมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2566 ได้มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 15.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีมูลค่า 8,714.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 7,361.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 4,198.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 9.01 


สำหรับโครงการประกวดออกแบบเครื่องประดับ GIT World’s Jewelry Design Awards เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ GIT ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เป็นปีที่ 17 แล้ว เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ นักออกแบบ และบุคคลทั่วไปที่มีใจรักในการออกแบบและสนใจในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ได้มีเวทีและโอกาสในการแสดงศักยภาพและพัฒนาฝีมือให้เข้าสู่มาตรฐานระดับโลก สร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย และเปลี่ยนประเทศไทยจากประเทศผู้รับจ้างผลิต เป็นประเทศที่สามารถสร้างแบรนด์เครื่องประดับที่ได้รับการยอมรับระดับโลก เพื่อการตอกย้ำการเป็นประเทศผู้ผลิตและผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก




นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบัน เสริมว่า การจัดการประกวดนี้ ถือเป็นโอกาสที่สำคัญที่เราจะทำทั่วโลก และ นานาชาติ ได้เห็นถึงศักยภาพของนักออกแบบไทย โดยเฉพาะด้านอัญมณีและเครื่องประดับ นอกจากนี้เราจะเห็นได้ถึงเทรนด์ในการออกแบบซึ่งมาจากทั่วทุกมุมโลกที่น่าสนใจ 

ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้เป็นแนวทางสำหรับนักออกแบบอีกด้วย โดยแบบวาดที่มีคะแนนสูงสุด 4 ผลงาน จะถูกนำไปผลิตเป็นเครื่องประดับต้นแบบ และตัดสินรอบชิงชนะเลิศในช่วงเช้าของวันนี้ โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งในการตัดสินรอบสุดท้าย ผ่านการสวมใส่เครื่องประดับจริง ที่จะทำให้เห็นว่าเครื่องประดับต้นแบบที่นักออกแบบได้สร้างสรรค์มานั้น สามารถผลิตได้ตรงตามแบบที่วาด และเมื่อสวมใส่จริง มีความสวยงาม และเหมาะสมหรือไม่ 

และจากนั้นเรานำผลงานการออกแบบทั้ง 4 นี้ มาแสดงแฟชั่นโชว์อวดโฉมเครื่องประดับสุดอลังการให้กับทุกท่านที่สนใจในงานตัดสินการประกวด GIT World’s Jewelry Design Award 2023 นำทีมโดย คุณ อแมนด้า ชาร์ลีน ออบดัม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ปี 2020 นักแสดงและนางเอกช่อง 3 

นอกจากนี้ภายในงานยังได้จัดแสดงผลงานการออกแบบของนักออกแบบที่เข้ารอบทั้ง 30 ผลงานอีกด้วย โดยปีนี้ GIT Popular Design Award 2023 มีผู้ร่วมโหวตผลงานจากทั่วทุกมุมโลก กว่า 600,000 คะแนน และ ผลงานที่ได้รับรางวัล คือ JDA127 คุณชาญชัย ดวงระหว้า นักออกแบบชาวไทย จากผลงานชื่อ ใบตอง ด้วยคะแนนโหวต 322,322 คะแนน ส่วนรางวัลชนะเลิศ ชื่อผลงาน  Golden Hour หรือ ช่วงเวลา
ดั่งต้องมนต์สะกด ออกแบบโดย คุณศิริชัย บุญประเทือง จากประเทศไทย



ส่วนรางวัลชนะเลิศ ชื่อผลงาน  Golden Hour หรือ “ช่วงเวลาดั่งต้องมนต์สะกด” ออกแบบโดย คุณศิริชัย บุญประเทือง จากประเทศไทย
รางวัลที่ 2 ชื่อผลงาน Line ออกแบบโดย เนตรนภา ส่งเสียง จากประเทศไทย 
รางวัลที่ 3 ชื่อผลงาน Time ออกแบบโดย Xueer Song ดีไซเนอร์ชาวจีน  
รางวัลที่ 4 ชื่อผลงาน  Volcano eruption ออกแบบโดย Zahraa Mohamed Haji ดีไซเนอร์ ชาว บาห์เรน




สำหรับผู้ที่สนใจและรักการออกแบบเครื่องประดับที่พลาดสำหรับการเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้
สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการประกวดการออกแบบ ได้ที่ www.facebook.com/gitwjda
ซึ่งแน่นอนว่าในครั้งหน้า หัวข้อการประกวดจะต้องมีความท้าทายมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน” ผู้อำนวยการสถาบัน กล่าวปิดท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น