เตรียมซ่อมสะพานไม้ซูตองเป้ ให้เหมือนเดิม และขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญการซ่อมแซมสะพานซูตองเป้ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำไหลหลาก
เมื่อคืนวันที่ 8 ต่อ เช้าวันที่ 9 กันยายน 2566 เมื่อเวลาประมาณ 02.40 น. ที่ผ่านมา ได้เกิดฝนตกหนักและเกิดน้ำแม่สะงาไหลหลาก บริเวณบ้านกุงไม้สัก อำเภอเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทำให้สะพานซูตองเป้ ได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้การได้
ความเสียหายครั้งนี้ถึงแม้สะพานจะขาดเป็นช่วงสั้น ๆ แต่จากการสำรวจพบว่าได้เกิดการกระทบโครงสร้างทั้งหมด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาครัฐภาคเอกชน พร้อมกรรมการวัดและชาวบ้านในพื้นที่ ได้ประชุมหารือกัน เมื่อวันศุกร์ที่ 15 กันยายน 2566 เวลา 09.30 - 11.30 น. ณ วิหารหลวงพ่อเจ้าพาราซูตองเป้ วัดภูสมณาราม บ้านกุงไม้สัก หมู่ที่ 2 ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งที่ประชุมมีมติร่วมกันว่า จะต้องเร่งซ่อมแซมฟื้นฟูสะพานซูตองเป้ ให้สามารถกลับมาใช้งานได้อย่างสะดวกปลอดภัยโดยเร็ว เพื่อสอดรับกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน ตลอดจนเตรียมการรองรับกิจกรรมทางประเพณีวัฒนธรรมและฤดูกาลท่องเที่ยว โดยยึดแนวทางตามโครงสร้างแบบเดิม ที่ยังคงรักษาไว้ตามรูปแบบสะพานไม้ผสมไม้ไผ่ขัดแตะ ที่กลมกลืนกับสภาพธรรมชาติ และสะท้อนถึงวิถีชีวิตขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่ให้มีความแข็งแรงปลอดภัย สำหรับให้พระภิกษุสามเณรที่จะเดินทางไปบิณฑบาตโปรดญาติโยมชาวบ้านในหมู่บ้าน รวมถึงประชาชนที่จะเดินทางมาทำบุญที่วัด
ปัจจุบันสะพานซูตองเป้แห่งนี้ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ และยังเป็น Landmark ที่สำคัญที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวตักบาตร ถ่ายภาพกับสะพานซูตองเป้ ที่พาดผ่านทุ่งนา ท่ามกลางทัศนียภาพที่สวยงามของธรรมชาติ เคียงข้างลำน้ำแม่สะงา อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
นอกจากนี้ ทางวัดภูสมณารามร่วมกับชาวบ้าน ยังได้กำหนดจัดกิจกรรมตามขนบธรรมเนียมประเพณี ต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ซึ่งหลายกิจกรรมและพิธีการก็ต้องอาศัยสะพานซูตองเป้แห่งนี้เป็นจุดเชื่อมโยงการทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีกำหนดจัดงานไว้ ดังนี้
วันที่ 28 ตุลาคม 2566 ประเพณีแห่จองพารา
วันที่ 29 ตุลาคม 2566 ประเพณีออกพรรษา
วันที่ 30 ตุลาคม 2566 ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ
วันที่ 31 ตุลาคม 2566 พิธีทอดกฐิน
สำหรับการซ่อมแซมดังกล่าว จะเป็นการร่วมแรงร่วมใจของทางวัดร่วมกับชาวบ้านตลอดจนหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนแทบทุกหน่วยงาน ซึ่งต่างเห็นพ้องต้องกันและมาร่วมบูรณาการการดำเนินงานให้สามารถกลับมาใช้งานได้โดยเร็ว โดยจะเริ่มรื้อถอน และดำเนินการซ่อมแซม ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
เนื่องจากการซ่อมแซมต้องเน้นความแข็งแรงปลอดภัย และต้องใช้วัสดุที่ได้มาตรฐานตามหลักวิศวกรรม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดหาปัจจัยสำหรับจัดหาวัสดุดังกล่าวหลายรายการและทางวัดมีปัจจัยไม่เพียงพอ ดังนั้น ทางวัดจึงได้บอกบุญ และฝากญาตโยมช่วยเป็นต้นบุญ - สะพานบุญ ในการร่วมสมทบปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเงิน วัสดุ อุปกรณ์ ต่าง ๆ โดยสามารถติดต่อโดยตรงกับพระปลัดจิตตพัฒน์ อคฺคปญฺโญ หลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดภูสมณาราม บ้านกุงไม้สัก หมู่ที่ 2 ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน หรือโทรศัพท์ (คุณแบงค์ ธวัชชัย) โทร. 06 5571 7512 หรือสมทบปัจจัยทำบุญโดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาแม่ฮ่องสอน ชื่อบัญชี “วัด ภูสมณาราม” หมายเลขบัญชี 508 - 0 - 50352 - 1 ทั้งนี้ กรุณาระวังมิจฉาชีพเปลี่ยนแปลงหมายเลขบัญชี โดยขอให้ตรวจสอบกับภาพถ่ายหมายเลขบัญชีที่แนบมาพร้อมนี้
พร้อมกันนี้ทางวัดภูสมณาราม ได้กำหนดจัดพิธีทอดผ้าป่าทำบุญสมทบทุนซ่อมแซมสะพานซูตองเป้ ในวันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน 2566 เวลา 16.30 น. ณ วัดภูสมณาราม บ้านกุงไม้สัก หมู่ที่ 2 ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน จึงขอเชิญชวนท่านผู้มีจิตศรัทธาร่วมพิธีในวันเวลาดังกล่าว
สะพานซูตองเป้ วัดภูสมณาราม เป็นสะพานไม้ไผ่ โครงสร้างไม้ มีความยาวประมาณ 500 เมตร (ไม่นับจุดเชื่อมต่อทางขึ้นวัด) สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2555 เป็นสะพานข้ามลำน้ำแม่สะงา และทุ่งนา เชื่อมระหว่างวัดภูสมณารามกับบ้านกุงไม้สัก เป็นสะพานที่พระสงฆ์และสามเณร และชาวบ้านเกิดแรงศรัทธาร่วมกันสร้าง โดยแรกเริ่มเกิดจากการอธิฐานของพระสงฆ์ที่จะสร้างเส้นทางเพื่อใช้เดินบิณฑบาตไปยังบ้านกุงไม้สักได้โดยง่าย ชาวบ้านที่มีศรัทธาได้นำเสาบ้านเสารั้วเก่าๆ ที่เหลือใช้มาถวายวัดและร่วมกันสร้างสะพานนี้ขึ้นจนสำเร็จดังคำอธิฐานไว้ จึงตั้งชื่อว่า "ซูตองเป้" ซึ่งเป็นภาษาไทใหญ่มีความหมายว่า "อธิฐานสู่ความสำเร็จ" นับว่าเป็นสะพานไม้ไผ่ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ซึ่งสะพานซูตองเป้ เป็นศูนย์รวมศรัทธาสำคัญของประชาชนชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีชื่อเสียงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเดินทางไปสัมผัสความสวยงามทางธรรมชาติ และทิวทัศน์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละฤดูกาล สามารถเที่ยวชมได้ตลอดทั้งปี
ภาพบางส่วนจากเพจ : ซูตองเป้ พุทธศาสนสถาน - วัดภูสมณาราม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น